ในยามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิท-19 (COVID-19) ก่อให้เกิดข่าวสารมหาศาลที่เกี่ยวกับเชื้อโรคชนิดนี้ ยิ่งอยู่ในยุคโซเชียลมีเดียทรงพลัง เรียกว่าข้อมูลแทบจะถาถมเข้าใส่นาทีต่อนาทีเลยทีเดียว แชร์กันว่อนโซเชียล จนบางทีก็ไม่รู้เลยว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนลวง
แม้ Natural and Organic จะไม่สามารถช่วยหาข้อเท็จจริงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มาเคลียร์ข้อกังขาอันมหาศาลได้ทุกข้อ แต่ขอใช้พื้นที่เล็กๆ นี้คัดประเด็นหลักๆ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ โดยหวังว่าจะทำให้พวกเราใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องและสบายใจมากขึ้น ไม่จมไปกับทะเลข่าวจนกลายเป็นความตระหนก
1) ถาม : สั่งซื้อสินค้าจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือกำลังระบาดของเชื้อไวรัสโควิท-19 เช่น จีน มีโอกาสติดเชื้อหรือไม่?
ตอบ : คำถามนี้น่าจะเคลียร์ใจเหล่านักช้อปทั้งหลาย แม้ว่าเชื้อไวรัสนี้จะมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้ 2-3 ชั่วโมง หรือนานหลายวัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม แต่ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีไวรัสอยู่บนพื้นผิวของสินค้าเหล่านั้น เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศกินเวลามากกว่า 4-5 วัน นอกจากนี้สินค้าที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่มีการตรวจอย่างละเอียดก่อนส่งมาถึงผู้รับ แต่หากไม่มั่นใจคิดว่าพื้นผิวอาจมีการปนเปื้อนให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนสัมผัส และหลังจากสัมผัสแล้วให้ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เช็ดมือ หรือล้างด้วยสบู่และน้ำ เพื่อความมั่นใจ
2) ถาม : มีแค่แอลกอฮอล์ 60-70% กับเจลล้างมือเท่านั้นหรือ? ที่เป็นสารทำความสะอาดฆ่าเชื้อไวรัสโควิท-19 ได้
ตอบ : จากเอกสารหัวข้อ “การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าสารทำความสะอาดที่ฆ่าเชื้อโคโรนาได้ มีตั้งแต่ ethyl alcohol 70%, Sodium hypochlorite (0.1-0.5%) สารฟอกขาว ที่อยู่ในผลิตภัรฑ์ประเภท Clorox, Haiter, 1% povido-iodine, 0.12% Chloroxylenol, 50% isopropanol, 0.05% benzalkonium chloride (สารประกอบแอมโมเนียสี่ส่วน), 50ppm iodine in iodophor, 0.23% sodium chlorite, 1% cresol soap (sodium alkyl-benzene sulfonate), 0.5-7.0% hydrogen peroxide
สารประกอบเหล่านี้สามารถนำไปเช็คเทียบดูได้ที่ข้างฉลากผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ใช่ทุกสารประกอบที่จะนำมาล้างมือเหมือนอย่างเจลล้างมือ เพราะเจลล้างมือส่วนใหญ่นอกจากมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 60-70% แล้ว จะต้องมีสารให้ความชุ่มชื้นอยู่ด้วย เพื่อความอ่อนโยนต่อผิว
ดังนั้นสารประกอบเหล่านี้ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ใด เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดผลิตขึ้น เพื่อเป็นแค่น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นผิว
3) คำถาม : การใช้เจลล้างมือมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการล้างมือด้วยสบู่หรือไม่?
ตอบ : มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน โดยแอลกอฮอล์ที่แนะนำ คือ มีปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 60 – 70% ขึ้นไป โดยสามารถสังเกตรายละเอียดได้ที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์
และในช่วงเวลาที่แอลกอฮอล์กลายเป็นแรร์ไอเท็ม ควรใช้อย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการฆ่าเชื้อสำหรับร้านค้าและบ้านอยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อเสมอไป โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) แนะนำว่า การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ใช้เพียงน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปก็เพียงพอแล้ว
4) คำถาม : การกินกระเทียมช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิท-19 ได้หรือไม่?
ตอบ : เรื่องนี้เป็นข่าวแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ แต่องค์การอนามัยโลกระบุแล้วว่า แม้กระเทียมจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณสมบัติต้านจุลชีพ อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานจากการระบาดของโรคในปัจจุบันว่าการกินกระเทียมช่วยป้องกันผู้คนจากเชื้อโควิท-19
5) คำถาม : อุณหภูมิร้อน-หนาวมีผลต่อการติดเชื้อโควิท-19 หรือไม่
ตอบ : คำถามนี้น่าจะลอยมาทุกครั้งเวลาดูข่าวการแพร่ระบาดในต่างประเทศ ทำไมจึงมีการแพร่กระจายไม่เท่ากับฝั่งเอเชีย เกิดมโนไปต่างๆ นานาว่า เพราะอาการหนาว-ร้อนที่ไม่เหมือนกันหรือเปล่า แต่ ณ เวลานี้เหล่าแพทย์ในต่างประเทศยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสภาพอากาศ และอุณหภูมิมีผลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิท-19
แต่ทางการเเพทย์และนักวิจัยบางคนระบุว่าไวรัสโควิท-19 นี้มีลักษณะคลายไวรัสเมอร์ส (Mers) ที่ตัวอายุไวรัสมีผลตามสภาพอากาศ หากเข้าสู่ฤดูร้อนการแพร่เชื้อจะลดลงในที่สุด แต่ถึงยังไงก็ตามยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ไวรัสโควิท-19 จะลดลงในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้หรือไม่
จากหลักฐานจนถึงปัจจุบันไวรัสโควิท-19 สามารถส่งผ่านได้ในทุกพื้นที่ รวมถึงบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนและชื้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองจากโควิท-19 คือ ทำความสะอาดมือบ่อยๆ ด้วยการทำเช่นนี้คุณจะกำจัดไวรัสที่อาจติดอยู่ในมือของคุณ และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสดวงตา ปาก และจมูก
6) คำถาม : จริงหรือเปล่า? สามารถตรวจเช็คเชื้อไวรัสโควิท-19 ได้ฟรี และไปตรวจที่ไหน?
ตอบ : สำหรับเราคงหวังว่าจะไม่พาร่างกายไปถึงจุดนั้น แต่ถ้ามีเหตุให้ต้องสงสัย ก็อย่ารอช้าที่จะไปตรวจเช็คเพื่อความชัวร์
กรณีตรวจฟรี : จะต้องมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์นี้
- เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ลูกเรือสายการบิน, บุคลากรที่เคยดูแลผู้ป่วยโควิท-19
- มีอาการในระบบทางเดินหายใจ มีไข้ 5 องศา ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก
ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่ท่านเลือก โดยแพทย์จะตรวจหาเชื้อไวรัสโควิท-19ให้ฟรี และหากกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโควิท-19 จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้าต้องการตรวจเชื้อโควิท-19 โดยไม่มีอาการป่วย จะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้
กรณีไม่ไปใช้สิทธิ์โรงพยาบาลที่ท่านเลือก สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามที่มีอยู่ในระบบประกันสังคมได้ก่อน โดยเบิกจ่ายเป็นกรณีฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง
หวังว่าข้อเท็จจริงเล็กๆ น้อยๆ นี้ จะช่วยให้ผู้อ่านสบายใจขึ้นกับการใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิท-19 และหวังว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้การเสพข่าวสารอย่างมีสติและกลั่นกรองกันมากขึ้น
อ้างอิง :
- จากเอกสารหัวข้อ “การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- นพ.นรชัย ชาญฐิติเวช อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
- https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/myth-busters
- ข้อมูล สำนักงานประกันสังคม
อ่านบทความเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่: ttps://bit.ly/38LY45F , https://bit.ly/2wICr8W