หมวดหมู่เครื่องอุปโภคและบริโภคในปัจจุบัน ถ้ายึดตามกระแสความนิยมแล้วละก็ คำว่า ‘ออร์แกนิก’ ดูจะเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับคนรักสุขภาพ
โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ที่เป็นปัจจัยหลักในชีวิตประจำวัน ใครๆ ก็ต้องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สะอาดถูกสุขอนามัย และไม่ก่อให้เกิดพิษภัยหลังจากการบริโภค
ปลอดสารพิษกับออร์แกนิกต่างกันตรงไหน?
เราขอยกตัวอย่างอาหารประเภท ‘ผัก’ ผักออร์แกนิกถือเป็นผักปลอดสารพิษ แต่ผักปลอดสารพิษไม่จำเป็นต้องออร์แกนิกเสมอไป และนี่คือคำอธิบายถึงความแตกต่าง…
ผักปลอดสารพิษ คือพืชผักที่ไม่ใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้จึงปราศจากยาฆ่าแมลงเจือใน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผักจะปราศจากสารเคมีอย่างหมดจด เพราะยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีเร่งการเจริญเติบโตระหว่างการเพาะปลูกได้ อีกทั้งพืชที่ปลูกอาจผ่านการตัดต่อพันธุกรรมด้วยก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผักปลอดสารพิษก็ยังถือว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับพืชผักที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชระหว่างการเพาะปลูก
ผักออร์แกนิก เป็นพืชผักที่เพาะปลูกด้วยวิธีธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ คำว่า ‘ออร์แกนิก’ หมายถึง อินทรีย์ แปลความว่า จะต้องงดเว้นการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนของการเพาะปลูกหรือผลิตพืชผัก และจะต้องเพาะปลูกตามฤดูกาลที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิด เพื่อให้พืชเจริญงอกงามได้ดีตามธรรมชาติ สามารถใช้สมุนไพรแทนสารพิษในการกำจัดศัตรูพืช หรือใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี
นอกจากนั้นพืชผักออร์แกนิกยังงดเว้นการใช้เมล็ดพันธ์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMO หากแต่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมตามธรรมชาติ และไม่เพียงขั้นตอนการเพาะปลูกเท่านั้น ในระบบการขนส่งและจำหน่ายยังต้องคำนึงถึงความสดใหม่และปลอดสารเคมีของพืชผักออร์แกนิกด้วยเสมอ ดังนั้น ด้วยขั้นตอนที่พิถีพิถันและยุ่งยาก กอปรกับต้นทุนการผลิตที่มากขึ้นกว่าปกติ จึงทำให้ราคาของพืชผักออร์แกนิกในท้องตลาดจึงสูงกว่าพืชผักธรรมดาทั่วไป
ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก
+ ในส่วนของอาหารจะปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า จะไม่มีสารพิษตกค้างในร่างกาย และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอันเกิดจากสารเคมีสะสม
+ พืชผักที่นำมารับประทานจะปลอดจากการตัดแต่งพันธุกรรม เรื่องนี้ แม้ว่างานวิจัยทั้งในและต่างประเทศจะไม่ยืนยันพืชที่ตัดแต่งพันธุกรรมให้ผลร้ายต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ผู้บริโภคหลายคนยังหวาดวิตก และยังมีการต่อต้านพืชตัดแต่งพันธุกรรมอยู่
+ ผักผลไม้มีรสชาติดีกว่า เพราะเป็นการเพาะปลูกตามฤดูกาล และมีความสดใหม่อยู่เสมอ
+ เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศไปในตัว เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีทั้งในดินและที่ระเหยในอากาศ
มาตรฐานอาหารออร์แกนิกในสากลโลกและเมืองไทย
อาหารออร์แกนิกมีความเท่าเทียมกันทั้งโลกในเรื่องของคุณสมบัติและมาตรฐาน ในศตวรรษที่ 21 ประเทศใหญ่ๆ อย่างกลุ่มประชาคมร่วมยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ มีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตอาหารออร์แกนิกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ร่วมตกลงกันไว้ เพื่อผลิตสินค้าอาหารที่มีความเป็น ‘ออร์แกนิก’ จริงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น
ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานของกระทรวงเกษตร (USDA) เป็นผู้ควบคุมดูแล พร้อมทั้งออกใบรับรองเป็นตราเครื่องหมาย National Organic Program ให้กับผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ผ่านมาตรฐานการผลิตแบบออร์แกนิก
ในกลุ่มประชาคมร่วมยุโรป เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2010ให้ผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกต้องยื่นจำนงขอจดทะเบียน และผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐเสียก่อน จนกระทั่งผ่านกระบวนการรับรอง นอกเหนือจากรูปดาวสีขาว 12 ดวงบนพื้นสีเขียวแล้ว บนสลากยังต้องมีข้อมูลระบุหมวดหมู่ของอาหารและเครื่องดื่ม ประเภทของผลิตภัณฑ์ เช่น เนื้อ เนยแข็ง นม ผัก ไข่ ผลไม้ ธัญพืช เครื่องเทศ ฯลฯ รวมถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ด้วย
ส่วนอาหารออร์แกนิกในเมืองไทย มีข้อกำหนดให้ประทับเครื่องหมาย Organic Thailand หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) IFOAM ACCREDITED ที่รับรองมาตรฐานการผลิตตามกระบวนการธรรมชาติ โดยหน่วยงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งการรับรองจะตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่ง และการบรรจุเพื่อจัดจำหน่าย ว่าปราศจากสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้นถึงจะผ่าน
เมื่อใส่ใจกับอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว เราก็ควรใส่ใจตรวจสอบก่อนซื้อด้วยว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจริงๆ ไม่ใช่เชื่อเพียงคำโฆษณา หรือการเคลมสินค้าด้วยแผ่นป้ายหรือปากเปล่า