วีแกนหรือมังสะวิรัติบางคนอาจมีแนวคิดรักษ์สุขภาพ หรือรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก แต่ความจริงแล้วพวกเขามีความเกรงใจเป็นที่ตั้งกันไหม? ถ้ารู้ว่า พืชผักที่พวกเขารับประทานนั้นมีความรู้สึก มันเองก็กลัวที่จะถูกกลืนกิน ลองนึกภาพดูว่า ผักในจานสลัดของคุณจะตื่นตระหนกกันแค่ไหนเวลาที่คุณรับประทานมัน
วีแกนหลายคนมีเหตุผลหนักแน่นว่า จะไม่รับประทานเนื้อหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุผลหลักๆ ว่า เป็นการบรรเทาความทุกข์ทรมานสิ่งมีชีวิตอื่น และเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม
กลุ่มนักวิจัยชาวอเมริกันของมหาวิทยาลัยมิสซูรี ในโคลัมเบีย ได้เปิดเผยผลวิจัยที่น่าประหลาดใจล่าสุดว่า พืชสามารถรู้สึกและรับรู้เวลาที่มันถูกกัดกิน นั่นคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปจากการศึกษาเกี่ยวกับต้นอะราบิดอฟซิส (Arabidopsis Thaliana) หรือพืชตระกูลมัสตาร์ด (มีพืชไทยที่ใกล้เคียงอยู่บ้าง เช่น คะน้า และบรอกโคลี) ซึ่งเป็นพืชที่ใช้บ่อยในงานวิจัย
ตามรายงานระบุว่า นักวิจัยทดสอบพืชชนิดดังกล่าวโดยให้หนอนแทะใบไม้ในบริเวณใกล้กัน จากแรงสะเทือนของการเคี้ยวใบไม้ของหนอนทำให้ต้นอะราบิดอฟซีสมีปฏิกิริยาตอบรับที่ระบบเผาผลาญของมัน
จากนั้นผลิตสารเคมีบางอย่างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกกัดกิน กลยุทธ์เพื่อการอยู่รอดของพืชชนิดนี้แสดงให้เห็นว่า พวกมันสามารถรับรู้ถึงเสียงขบเคี้ยวได้ และพยายามหาทางป้องกันตนเองจากภัยอันตรายในเบื้องต้น
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ พืชผักเองก็รู้สึกกลัวตายเป็นเหมือนกัน และมีปฏิกิริยาตอบรับ มันแสดงความรู้สึกของตนเองด้วยการปรับโครงสร้างการเผาผลาญของมัน
แต่ผลการทดลองของกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยมิสซูรีครั้งนี้ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า มีการทดสอบพืชผักชนิดอื่น หรือได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันหรือไม่ แต่จากรายงานระบุถึงว่ามีความเป็นไปได้
งานวิจัยอีกชิ้นมาจากดีเทอร์ โฟล์คมันน์ (Dieter Volkmann) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบอนน์ ในเยอรมนี ระบุว่า พืชแม้ไม่มีระบบประสาทเหมือนมนุษย์ แต่ก็มีโครงสร้างที่คล้ายกันหลายอย่าง
จากการทดลองด้วยการฝังเมล็ดข้าวโพดลงในดิน แล้วเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของมัน แม้ว่ามันจะไม่มีระบบประสาท แต่การใช้ตัวช่วยสำหรับการรับรู้ภายนอกก็คล้ายกับมนุษย์และสัตว์
นั่นคือ ด้วยสัญญาณไฟฟ้า ที่ไม่ได้วิ่งไปทั่วร่างเหมือนหนูทดลอง แต่จะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปเหมือนภาพสโลว์โมชัน แมงป่องต่อยเข้าที่เท้าของมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์จะรับรู้ได้ในทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น สัญญาณของพืชจะใช้เวลาร่วมสามนาที นักวิจัยจากบอนน์ตรวจวัดได้ว่า สัญญาณที่ส่งจากใบของพืชนั้นใช้เวลาในอัตราหนึ่งเซนติเมตรต่อวินาที ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผิวหนังมนุษย์แล้ว สัญญาณจะถูกส่งเร็วกว่าพืชถึง 10,000 เท่า
ถึงอย่างนั้น พืชก็ชดเชยความเชื่องช้าด้วยความรู้สึกพิเศษ ศาสตราจารย์โฟล์คมันน์ยังมีข้อมูลต่อเรื่องนี้เพิ่มเติมอีกว่า ความรู้สึกพิเศษที่ว่าอยู่ตรงรากของมัน สำหรับการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว บริเวณปลายรากแต่ละเส้นจะวัดแรงโน้มถ่วง แสง สารอาหาร และสารพิษในทุกวินาที
ส่วนผลการทดลองในห้องทดลองข้าวโพดที่เมืองบอนน์ก็แสดงให้เห็นว่า รากของพืชสามารถเปลี่ยนทิศทางการงอกเงยได้ภายในเวลาเสี้ยววินาทีเช่นกัน ตราบใดที่มันชอนไชไปในดินที่มีสารพิษ หรือตำแหน่งการวางกระถางเปลี่ยนไป เพียงแต่สารพิษและแรงโน้มถ่วงไม่ใช่สิ่งที่พืชสนใจเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ เมื่อกว่าสิบปีที่แล้วยังมีการทดลองในเรื่องการฟังเพลงของพืชหรือต้นไม้อีกด้วย เป็นการทำงานของนักวิจัยในไร่องุ่นไวน์ที่ทัสคานี
มีการเปิดเพลงคลาสสิกผ่านเครื่องขยายเสียงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เป็นเวลาสิบปี เพื่อหาคำตอบว่า ต้นไม้จะเจริญงอกงามดีกว่าหรือไม่หากกล่อมด้วยเสียงเพลง ต้นไม้ได้ยินเสียงหรือไม่ และมันชอบหรือไม่เวลามีคนพูดกับมัน
โยเซฟ เชปปาค (Joseph Scheppach) นักข่าวและนักเขียนงานวิชาการ เขียนถึงเรื่องนี้ในหนังสือ ‘Das geheime Bewusstsein der Pflanzen’ (ความลับของพืช) ของเขา แน่นอนว่าพืชหรือต้นไม้ไม่มีหู แต่มันสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบรับด้วยใบที่ใหญ่กว่า ห่อหุ้มผลองุ่นไวน์ให้ได้รสและกลิ่นที่หอมกว่า
ตามด้วยข้อสรุปของนักเขียนชาวเยอรมันผู้นี้ว่า เซลล์พืชทุกเซลล์มีเยื่อหุ้มเซลล์ที่ไวกว่าอวัยวะรับฟังของมนุษย์