เพราะสายใยแห่งความรักจากคุณแม่ถึงคุณลูกจะเชื่อมโยงผูกพันกันไปตลอดช่วงชีวิต นับตั้งแต่วันที่ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งได้รู้ข่าวดีว่าตัวเธอมีชีวิตน้อยๆ อยู่ในครรภ์ นั่นหมายความว่าช่วงเวลานั้นคุณได้รับรู้อีกหนึ่งบทบาทใหม่อย่างมีนัยสำคัญ “ยินดีด้วยนะคะ คุณแม่คนใหม่” เป็นคุณแม่แบบเต็มตัวแล้วสินะเรา
ในเดือนแห่งความรักนี้ เราขอร่วมแสดงความความปรารถนาดีและยินดีกับคุณแม่ทุกคนด้วยนะคะ เชื่อว่าตอนนี้คุณแม่คงกำลังนึกห่วงว่าตัวเองจะดูแลเรื่องความสวยความงามได้มากน้อยแค่ไหน นี่ได้ไหมหรือไม่ได้ แหม! ผู้หญิงเราก็ต้องมีแว้บคิดถึงเรื่องนี้ไว้ก่อน ไม่ต้องแปลกใจ หรือคิดติติงตัวเองไปนะคะ
คุยเรื่องความงามกับคุณแม่ตั้งครรภ์ การเสริมความงามบางอย่างทำได้แบบปกติเลย แต่บางอย่างก็ไม่สามารถทำได้และเป็นข้อห้ามอย่างจริงจังด้วยนะคะ ลองค่อยๆ มาอ่านดูข้อมูลกันแล้ววิเคราะห์จดจำไป เพื่อความปลอดภัยของคุณลูกมาเป็นที่หนึ่ง
1.การทาเล็บ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทาเลยนะคะ ปล่อยให้เป็นสีเล็บธรรมชาติ เพราะในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น อาการตัวซีดที่เป็นอีกหนึ่งอย่างที่คุณหมอจะต้องตรวจดู ซึ่งนอกจากจะตรวจดูจากหน้า ริมฝีปาก ลิ้น มือ เท้า หรืออวัยวะอื่นๆ ที่สามารถมองเห็นได้แล้ว ก็ต้องตรวจดูจากสีของเล็บด้วยว่าซีดหรือมีเลือดฝาดหรือไม่
2.การทำสีผม ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองในระยะยาวเพื่อยืนยันว่าการทำสีผมในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความปลอดภัยหรือไม่ แต่มีคุณแม่จำนวนหนึ่งที่ทำสีผมในขณะตั้งครรภ์ก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติแต่อย่างใด และจากการทดลองกับสัตว์ นักวิจัยได้ใช้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ย้อมสีผมในปริมาณมากกว่าที่แนะนำให้ใช้ในคนมากถึง 100 เท่า ก็ยังไม่พบความผิดปกติอะไรของพัฒนาการของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง
หากคุณแม่ต้องการจะทำสีผม ควรทำหลังจากผ่านช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว เพราะหนังศีรษะสามารถซึมซับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายและขับออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะได้
แต่เนื่องจากร่างกายสามารถซึมซับสารเคมีเหล่านี้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์แต่อย่างใด แต่ทางที่ดีที่สุดควรจะหลีกเลี่ยงไว้ก่อนจะดีกว่า

3.การสวมแหวน ถ้าคุณแม่ยังใส่แหวนในขณะตั้งครรภ์อยู่ ขอแนะนำให้ถอดเก็บเอาไว้ก่อน เพราะคุณแม่เกือบทุกคนมักมีอาการบวมเกิดขึ้น เมื่อบวมมากๆ แหวนที่ใส่อยู่ก็จะถอดออกไม่ได้ ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่สะดวก
4.การสัก ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์คุณแม่ควรงดเว้นเอาไว้ก่อนจะดีกว่าค่ะ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในระหว่างการสักได้
5.เลเซอร์รักษาผิวพรรณ แม้ว่าการใช้เลเซอร์รักษาผิวจะไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เนื่องจากเป็นเพียงวิธีการรักษาภายนอกเท่านั้น และความรุนแรงของแสงเลเซอร์ก็มีไม่มากพอที่จะทำอันตรายได้ แต่ถ้าคุณแม่ทำเลเซอร์ในช่วงนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะไม่เป็นเหมือนที่คาดหวังไว้ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนจะมีผิวคล้ำขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เป็นปกติอยู่แล้ว และจะหายไปเองหลังการคลอด จึงแนะนำว่าให้ทำหลังการคลอดแล้วจะดีกว่า

6.เลเซอร์กำจัดขนถาวร การแวกซ์ขนดูจะมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์มากกว่าการกำจัดขนด้วยการใช้เลเซอร์ที่อาจมีความเสี่ยง เนื่องจากสารเคมีจากเลเซอร์อาจทะลุผ่านผิวหนังทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองได้ แม้ว่าผลกระทบที่เป็นอันตรายอื่นๆ ยังไม่ถูกค้นพบ แต่เลเซอร์ที่ใช้สำหรับการกำจัดขนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งต้องห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรด้วย
7.การฉีดโบท็อกซ์ (Botox) ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าการฉีดโบท็อกซ์จะก่อให้เกิดอันตรายกับคุณแม่และลูกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ก็แนะนำว่าผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับการฉีดโบท็อกซ์
8.ผลิตภัณฑ์รักษาสิว ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) คุณแม่ไม่ควรใช้ เพราะสารในกลุ่มของ BHA (Beta Hydroxy Acids) คือ กรดซาลิไซลิกที่ถูกออกแบบมาให้สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังและมีคุณสมบัติทำให้ผิวลอกได้ คุณแม่ควรตอบสอบฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวอย่างโทนเนอร์หรือคลีนเซอร์ที่ใช้อยู่ด้วยว่ามีส่วนของกรดซาลิไซลิกหรือ BHA หรือไม่ ถ้ามีควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่วนยากินรักษาสิวทุกชนิดก็ห้ามเช่นกันค่ะ
9.การนวดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถนวดเพื่อเป็นการผ่อนคลายร่างกายได้ แต่ควรจะรอให้พ้นระยะเวลา 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไปก่อน หลังจากผ่าน 3 เดือนไปแล้วก็ยังต้องระมัดระวังในเรื่องของวิธีการนวดและตำแหน่งที่ผู้นวดจะนวดด้วย จึงทำให้ร้านสปาส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีการนวดก่อนคลอด เนื่องจากไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกร้านสปาที่ผู้ประกอบการมีใบอนุญาตนวดก่อนคลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการแท้งบุตร
10.ปัญหาผิวที่พบในช่วงตั้งครรภ์ เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณของคุณแม่ที่พบได้บ่อย คือ ผิวคล้ำ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ซอกคอ รอบหัวนม ขาหนีบ และมีเส้นสีดำกลางท้อง ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน คุณแม่อย่าพยายามไปขัดถูนะคะ เพราะขัดถูไปเท่าไรก็คงไม่ออก ต้องรอหลังคลอดเสร็จเท่านั้น ตรงไหนที่เคยมีสีคล้ำๆ ก็จะค่อยๆ จางลงไปเอง,
ปัญหาฝ้านอกจากจะเกิดจากฮอร์โมนแล้ว แสงแดดก็ยังเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด ถ้าต้องเดินกลางแดดควรทาครีมกันแดดและกางร่มอยู่เสมอ, ปัญหาสิว เรื่องนี้ก็คงต้องรอหลังคลอดอย่างเดียว เช่นบางคนก่อนตั้งครรภ์ไม่เคยมีสิวเลย พอตั้งครรภ์กลับมีสิวผุดขึ้นมา หรือบางคนที่แต่เดิมเคยเป็นสิวอยู่ก่อน แต่พอตั้งครรภ์แล้วกลับเป็นสิวน้อยลงก็มี ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเดิมที่ไม่สมดุลกลับมาสมดุลมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลและเอกสารอ้างอิง:
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)