‘Urban Farming’ วิถีเกษตรคนเมือง อาจเป็น New Normal หลังโควิด-19

ในอดีตการปลูกผักในเมืองอาจเป็นเรื่องไกลตัวและยุ่งยากสำหรับคนเมืองที่ใช้ชีวิตแข่งกับเวลา ทว่าเทรนด์ Urban Farming หรือ ‘วิถีเกษตรคนเมือง’ กำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย

เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้คนเมืองหันมาปลูกผักได้อย่างสะดวกสบาย มาพร้อมดีไซน์สุดล้ำที่เสริมการตกแต่งบ้านให้มีสไตล์มากขึ้น

ในวันที่โลกหยุดหมุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนเมืองหันมาปลูกผักและสมุนไพรมากขึ้นจนอาจจะกลายเป็น New Normal โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์หรือ ‘ผักปลอดสาร’ อาทิ ผักไฮโดรโปนิกส์ การเกษตรแนวดิ่ง (Vertical Farming) ไมโครกรีนส์ (Microgreens) ฯลฯ

คนเมืองจึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็ก ๆ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มองแล้วสบายตา โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ที่หลายคน Work from Home มากขึ้น จึงหันมาปลูกผักปลอดสารเป็นงานอดิเรก และสำหรับบางคนอาจจริงจังถึงขั้นสร้างรายได้เสริมเลยทีเดียว

นักวิจัยจากสถาบันอาหารเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์แห่งสหราชอาณาจักร (Sustainable Food, University of Sheffield) ระบุว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้คนหันมาใส่ใจการรับประทานผักปลอดสารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ชาวอังกฤษจึงให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการและความมั่นคงของอาหารมากขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่ชาวเมืองก็หันมาปลูกพืชผักแนวดิ่งหรือไฮโดโปรนิกส์ไว้รับประทานเอง เช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์ที่หันมาปลูกพืชแนวดิ่งในช่วงโควิด-19 หากใครพอจะมีพื้นที่ทำสวนก็จะปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน รวมถึงอินโดนีเซียก็หันมาปลูกผักรับประทานเอง เพื่อรับมือกับวิกฤตขาดแคลนอาหารในอนาคต เพราะสิงคโปร์นำเข้าอาหารถึงกว่า 90% แต่ก่อนจะเริ่มโปรเจ็คต์เล็ก ๆ ในบ้าน เรามีไอเดียยอดนิยมในการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองมาฝาก

‘ปลูกผักในขวดสวย’ ตกแต่งบ้านให้น่าอร่อย

หากคุณอาศัยในคอนโดหรือทาวน์โฮม การปลูกผักด้วยน้ำในขวดอาจเป็นไอเดียที่น่าสนใจกว่าการปลูกในกระถาง แถมยังตกแต่งบ้านให้เพลินตาน่ามอง แล้วยังพร้อมอร่อยกับเมนูผักสวนครัวได้อีกด้วย วิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปและอเมริกา เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาและสะดวกสบายไม่ซับซ้อน แต่ควรคำนึงถึงความชื้นและแสงแดดเป็นสำคัญ เพียงมีเมล็ดพันธุ์พืชผักที่ต้องการ ขวดพลาสติกรีไซเคิล หรือขวดแก้ว แล้วศึกษาวิธีปลูกได้ที่

อีกหนึ่งวิธีปลูกผักที่แสนง่ายดายและได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือการปลูกพืชตระกูลหัว สมุนไพร หรือเศษผักเหลือทิ้งนำมาปลูกซ้ำ เพื่อให้ได้ผักและผลไม้ไว้รับประทานเองที่บ้าน เช่น ผัดกาดหอม คึ่นฉ่าย ต้นหอม ผักชี ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ ขิง ข่า ตะไคร้ สัปปะรด แครอท ฯลฯ พร้อมเทคนิคการปลูกที่ทำตามได้ง่าย ๆ ให้คุณมีผักสดไว้รับประทานแบบ Farm to Table

‘ไมโครกรีนส์’ ปลูกไวได้สารอาหารสูงกว่าผักทั่วไป 40 เท่า

ไมโครกรีนส์ (Microgreens) หรือ Vegetable Confetti คือการเพาะต้นกล้าของผักและสมุนไพรปลอดสารที่ผลิใบอ่อนราว 2-3 ใบ แล้วปลูกลงในกระถางด้วยดินพรุ (ดินในพื้นที่พรุที่แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยว เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์และมีสารไพไรท์อยู่มาก)

ผักไมโครกรีนส์มีความสูงเพียง 1-3 นิ้ว และใช้เวลาในการปลูกเพียง 7-10 วันเท่านั้นก็พร้อมรับประทาน แม้จะจิ๋วแต่มีคุณค่าทางสารอาหารเข้มข้นกว่าพืชผักทั่วไปเกือบ 40 เท่า (อ้างอิงงานวิจัยของ FDA) ไมโครกรีนส์ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และแร่ธาตุมากกว่าผักใบเขียว

การปลูกผักไมโครกรีนส์ยังสร้างรายได้ในครัวเรือนได้ด้วย ย้อนกลับไปในปี 2560 ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ‘Urban Green Fate Farms’ หรือ UGF เริ่มต้นโดย Linesh Narayan Pillai โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการสร้างฟาร์มเล็ก ๆ ในชุมชน ดาดฟ้าของอาคาร และสวนหลังบ้าน เพื่อลดการขาดแคลนอาหารและส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชน ด้วยการดัดแปลงพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานในบ้านเรือนและชุมชน ให้เป็นสวนผักขนาดย่อมที่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับอาคาร UGF จะจัดส่งพืชไมโครกรีนส์ให้แต่ละบ้านหรือชุมชน เพื่อให้ผู้ปลูกนำไปดูแลและสามารถตัดพืชผักสดไปขายให้กับร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรม 5 ดาวในอินเดีย

‘ไฮโดรโปรนิกส์’ ปลูกผักให้เก๋สไตล์คนเมือง

IKEA moves into indoor gardening with hydroponic kit

ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแต่ใช้น้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ และไม่ปนเปื้อนสารเคมีในดิน ทำให้ได้พืชผักที่สดใหม่และสะอาดไว้รับประทาน ปัจจุบันการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์แนวดิ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะสามารถออกแบบเข้ากับคอนโดหรือสวนเล็ก ๆ หลังบ้านได้อย่างมีสไตล์ ใช้วัสดุปลูกเพียงไม่กี่อย่างหรือจะหาซื้อครบเซ็ตทางออนไลน์เลยก็มี

Ronnie Runesson ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาวุโสของ IKEA ได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Hydroponic Kit ขณะที่เขาใช้ชีวิตในประเทศจีน ความที่เติบโตบนเกาะโอลันด์ ประเทศสวีเดน เขามุ่งมั่นที่จะปลูกฝังเรื่องการปลูกผักที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่พักอาศัยในอพาร์ทเมนต์

ในเรื่องนี้ Helena Karlén วิทยากรประจำ University of Agricultural ประเทศสวีเดน กล่าวว่า “เมื่อคิดถึงประเทศกำลังพัฒนา ระบบการเพาะปลูกด้วยไฮโดรโปนิกส์มีความสำคัญมาก นอกจากจะเฝ้าดูพืชผักเติบโตแล้วยังได้รับประทานผักสดใหม่ ที่สำคัญรสชาติต้องดี ไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกเท่านั้น มันหมายถึงคุณสามารถปลูกพืชผักที่มีความสำคัญต่อมื้ออาหารของตัวเอง หรือแม้แต่นำไปขายเพื่อให้มีรายได้พิเศษได้ด้วย”

‘Vertical Farming’ ปลูกผักแนวดิ่งมองกี่ครั้งก็สบายตา

 

การเกษตรแนวดิ่ง คือการปลูกพืชเป็นชั้น ๆ ในคอนโดหรืออาคาร ที่สามารถป้องกันแมลงและวัชพืชต่าง ๆ ด้วยการควบคุมน้ำ อาหาร และแสงแดด ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตมากกว่าการเกษตรทั่วไป 5-10 เท่าในพื้นที่ที่เท่ากัน ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้ ประหยัดพลังงาน ใช้น้ำน้อยกว่าและควบคุมดูแลง่าย การเกษตรแนวดิ่งยังช่วยอำพรางสายตาและตกแต่งระเบียงห้องพักให้สดชื่นสบายตามากขึ้น

ศาสตราจารย์ Dickson Despommier มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ต้นแบบแนวคิด Vertical Farming เชื่อว่า “สภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จะทำให้พื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ Vertical Farming จึงเป็นทางรอดของปัญหานี้ ทั้งยังลดการเปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ด้วย” ดูเหมือนโควิด-19 จะทำให้มนุษย์ตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น

การปลูกผักรับประทานเองยังสอนให้เราเป็นคนใจเย็น อ่อนโยน และมีความสุขง่าย ๆ เมื่อเห็นพืชผักที่เราปลูกเติบโตจนถึงวันที่เรารับประทานผักสดใหม่ที่ปลูกเองกับมือ แม้โควิด-19 จะเป็นโรคระบาดร้ายแรงครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้โลก

ทว่าในอีกมุมหนึ่งมันก็สอนให้เราตระหนักถึงความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต หันมาใส่ใจสุขภาพและระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้น มีเวลาอยู่กับครอบครัวและคนรัก

ท้ั้งยังกระตุ้นให้เราเริ่มต้นปลูกผักรับประทานเองในบ้านหลังเล็ก ๆ ดังเช่นความฝันของคนเมืองหลายคน