โลกที่ล้นไปด้วยขยะและกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนกำลังแบกรับชะตากรรมอยู่ร่วมกัน กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ก็ได้มีการตระหนักถึงความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร ทั้งการนำวัสดุเดิมกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการหาวัสดุทดแทนที่แปรรูปจากสิ่งเหลือใช้เช่น ‘ขยะพลาสติก’
Kiriko เป็นแบรนด์แฟชั่นในพอร์ตแลนด์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 แบรนด์นี้เก็บเอาขยะจากผ้าทุกชนิดที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ตั้งแต่ผ้าห่มไปจนถึงผ้าเนื้อยีนส์ มาทำแพตช์เวิร์กหรือตัดปะให้เป็นผืนใหม่ด้วยมือให้กลายเป็นผ้าผืนใหม่ แล้วนำไปตัดเย็บเป็นสินค้าชิ้นใหม่ หรือนำไปตกแต่งเข้ากับเสื้อผ้าของแบรนด์ >> https://kirikomade.com/
Nudie Jeans เป็นแบรนด์ผู้ผลิตเสื้อผ้าและกางเกงในสวีเดน เพื่อสนับสนุนวงจรชีวิตของฝ้ายออร์แกนิกที่แบรนด์นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าให้ยืนยาวและคุ้มค่ากว่าเดิม จึงได้ออกแคมเปญมอบส่วนลด 20 เปอร์เซ็นต์ให้กับลูกค้าที่นำกางเกงยีนส์เก่ามาแลกซื้อกางเกงยีนส์ตัวใหม่ โดยแบรนด์จะนำกางเกงที่รับคืนมานั้นไปซ่อมแซมด้วยมือ แล้วนำมาขายใหม่ในคอลเล็กชั่น Re-use Jeans ซึ่งหลังจากจัดแคมเปญนี้มาได้สามปี พบว่ามีลูกค้านำกางเกงยีนส์เก่ามาแลกถึง 10,000 ตัว >> www.nudiejeans.com
ส่วนในซีแอทเทิล เมืองที่เป็นฐานการผลิตชุดออกกำลังกายยี่ห้อ Girlfriend Collective ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ด้วยเป้าหมายว่าต้องการผลิตชุดออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดีไซน์น่าสนใจ และคุ้มค่าต่อการใช้งาน สินค้าตัวแรกที่ออกสู่ท้องตลาดโดยการแจกฟรี คือเลกกิ้งสีดำที่ผลิตจากขวดรีไซเคิล 25 ขวดต่อกางเกงหนึ่งตัว การโปรโมตนี้ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด เพราะเมื่อถึงวันนำออกจำหน่ายจริง กางเกงเลกกิ้งสีดำตัวนี้มียอดสั่งซื้อมากกว่า 10,000 ตัวในวันแรก > www.girlfriend.com
ขยะพลาสติกกลายเป็นวัสดุที่สร้างมูลค่าใหม่ด้วยกระบวนการอัพไซเคิล ไม่เพียงแต่ขยะบนบกที่ถูกเก็บกวาดและแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ ขยะในทะเลที่แม้จะจัดเก็บได้เพียง 1 ใน 10 จากที่หลุดลอยออกไปกลางมหาสมุทร กลายเป็นโจทย์ที่ ฮาเวียร์ โกเยเนเซ่ เจ้าของแบรนด์แฟชั่น ECOALF ในสเปน ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นมามากกว่า 20 ปี และเห็นการเกิดขึ้นของขยะจำนวนมากจากอุตสาหกรรมนี้เกิดความกังวล จึงตั้งโครงการ ‘Upcycling the Ocean’ ขึ้นตั้งแต่ปี 2008 เขาทำงานร่วมกับชาวประมงโดยให้ชาวประมงเป็นผู้ร่วมจัดการขยะ แล้วนำเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นเส้นด้ายโดยโรงงานที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ก่อนจะกลายเป็นผืนผ้าแล้วมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย >>https://ecoalf.com
โครงการ Upcycling the Ocean ของฮาเวียร์ ได้รับความสนใจและต่อยอดโครงการมาสู่ประเทศไทย โดยบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกในไทยอย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับมูลนิธิอีโคอัลฟ์ของเขา ก่อตั้งโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ขึ้นมา เพื่อจัดการขยะพลาสติกในทะเล ด้วยการนำกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
พลาสติกจากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมาเป็นเส้นด้ายและผืนผ้า ที่นอกจากจะผลิตและเปิดจำหน่ายในเพจ Upcycling the Oceans, Thailand แล้ว ซึ่งเสื้อหนึ่งตัวผลิตจากขยะขวดพลาสติก 14 ขวดนั้นทำให้เกิดการแปลงร่างขยะไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ยังได้รับการสานต่อเจตนาโดยแบรนด์ใหญ่อย่าง Arrow ในการสร้างสรรค์ออกมาเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ ‘Arrow Upcycling’ ที่ใช้นวัตกรรมจากเส้นใยพลาสติก 65 เปอร์เซ็นต์ หรือพลาสติกจากขวด PET 12 ขวด ต่อเสื้อแขนยาว 1 ตัว มาผสมกับเส้นใยธรรมชาติ ที่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรก
หากกางแผนที่โลกแล้วส่องสำรวจอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบัน จะพบว่าวันนี้แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ทั้งในระดับท้องถิ่นและเวิลด์ไวด์ ต่างตื่นตัวกำลังตื่นตัวถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และมองหาแนวทางที่จะปกป้องโลกตามแนวทางของตัวเอง ขณะเดียวกันการปิดป้าย ‘upcycled’ ลงไปบนแบรนด์ก็มีผลกับการเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกให้กับสินค้า
แต่ไม่ว่าการอัพไซเคิลนั้นจะถูกนำหน้าด้วยเจตนาใดก็ตาม ตราบใดที่ยังผลลัพธ์นั้นพามาสู่การปกป้องถนอมโลกในทางใดทางหนึ่ง ก็นับได้ว่าวิน-วิน