เวลานี้ คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก ‘ไวรัสโคโรน่า’ แม้ว่าเราจะไม่ค่อยอยากสนิทสนมกับเชื้อโรคสายพันธุ์นี้สักเท่าไร แต่ความที่มันมีอนุภาพทนทานและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนต่างหาสารพัดวิธีมาต่อสู้ เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างจากเชื้อร้ายนี้มากที่สุด
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ‘หน้ากากอนามัย’ กลายเป็นแรร์ไอเท็ม เพราะนี่คืออาวุธชิ้นแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่จะพกติดตัวยามออกจากบ้านฝ่าฝูงชนเพื่อทำธุระประจำวัน และเมื่อดีมานด์มากกว่าซัพพลาย หน้ากากอนามัยจึงกลายเป็นของขาดตลาด เกิดช่องว่างให้มิจฉาชีพนำหน้ากากอนามัยมือสองที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาซักและจำหน่ายใหม่ โดยหลอกว่าเป็นของใหม่แกะกล่อง เกิดเป็นข่าวครึกโครมกันแทบไม่เว้นวัน
ซึ่งหน่วยงานทางการแพทย์ได้ออกมายืนยันแล้วว่า หน้ากากอนามัยที่นำมารียูสเช่นนี้ ไม่ถูกสุขลักษณะ นี่ยังไม่รวมถึงการโก่งราคาหน้ากากอนามัยสูงกว่าเดิมถึง 10 เท่า ไปจนถึงการผลิตหน้ากากอนามัยคุณภาพต่ำ
เท่านั้นไม่พอท่ามกลางกระแสข่าวไวรัสโคโรน่า องค์การอนามัยโลกและ CDC ของสหรัฐอเมริกายังประกาศอีกว่าไม่แนะนําให้ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งประเด็นนี้สร้างความสับสนให้คนไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดนี้ไม่น้อย
สรุปแล้วเราควรต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือเปล่า?
การตอบคำถามนี้ให้ชัด ควรทำความเข้าใจกับชนิดของหน้ากากป้องกันก่อน โดยจากเอกสารประกอบการบรรยายหัวข้อ “การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แบ่งชนิดของหน้ากากอนามัยอย่างกว้างๆ ออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ หน้ากากผ้า / หน้ากากอนามัย / หน้ากาก N95 / หน้ากาก N95 และมีวาล์ว ซึ่งแต่ละประเภทมีข้อบ่งใช้แตกต่างกัน
- หน้ากากผ้า : กรองอนุภาพ> 10 ไมครอน ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้า สามารถใช้งานได้หลายครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ป่วยและควรหมั่นซักบ่อยๆ
- หน้ากากอนามัย: กรองอนุภาพ>5 ไมครอน ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยคุณสมบัติของหน้ากากอนามัยที่ดี คือ กันน้ำ กรองอนุภาค-แบคทีเรียขนาดเล็กได้ และหายใจผ่านได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ
- หน้ากาก N95 : กรองอนุภาพ 3 ไมครอน กรองได้ 95% ใช้ครั้งเดียวหรืออาจจะ 2-5 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการใช้งานเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
- หน้ากาก N95 และมีวาล์ว : กรองอนุภาพ 3 ไมครอน กรองได้ 95% ใช้ครั้งเดียวหรืออาจจะ 2-5 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการใช้งานเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อกลับมาพิจารณาประกาศขององค์การอนามัยโลก และ CDC ของสหรัฐอเมริกา คือ ไม่ได้แนะนําให้ ‘ผู้ที่สุขภาพแข็งแรง’ ใส่ ‘หน้ากากอนามัย’ ในสถานการณ์ทั่วไป โดยแนะนำเฉพาะต้องเป็นผู้ดูแลผู้มีอาการเจ็บป่วย
ดังนั้นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ในประเทศไทย ‘หน้ากากอนามัย’ ยังจำเป็นอยู่ไหม?
ถ้าคุณเป็นผู้มีสุขภาพดี ‘หน้ากากผ้า’ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีคุณสมบัติที่ดี 100% แต่เหมาะกับวิกฤตหน้ากากอนามัยขาดแคลน เนื่องจากเป็นไอเท็มที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นการลดการใช้หน้ากากอนามัยโดยไม่จำเป็น
เพราะหน้ากากอนามัยน่าจะสงวนไว้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดี หรือสงวนไว้ในกรณีที่มีโอกาสสัมผัสผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือทํางานในที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน คนขับรถ หรือไปในสถานที่มีแออัดสูง
สำคัญกว่าหน้ากากป้องกัน ก็สิ่งนี้ละ…
นอกจากการหาทางเลือกที่ปลอดภัยกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลนแล้ว อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มีหน้ากากปิดปากก็ไร้ความหมาย นั่นคือ วิธีใส่-ถอดหน้ากากป้องกันอย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการสัมผัส
อย่างที่รู้กันว่า ไวรัสชนิดนี้ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่ง ดังนั้น ถ้าคุณไปสัมผัสเชื้อด้วยมือจากสิ่งของใดก็ตามที่สัมผัส (ซึ่งเราไม่มีวันรู้หรอก) และนำมาสัมผัสตา ก็หมายถึงคุณรับเชื้อทันที
ฉะนั้นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสเยื่อบุบริเวณใบหน้า (ตา จมูก ปาก) ด้วยมือที่ไม่ได้ล้าง จึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก เช่นเดียวกับหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะหลังไอ จาม, ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า, หลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกสุขลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
2.กรณีเป็นหน้ากากอนามัย (ไม่ใช่หน้ากากผ้า) ให้หันสีเข้มออกด้านนอก เนื่องจากมีสารเคลือบ กันละอองของเหลวป้องกันเชื้อโรค
3.กรณีเป็นหน้ากากอนามัย สีอ่อนควรอยู่ด้านใน เนื่องจากมีเยื่อบุแผ่นกรองขนาดเล็ก ป้องกันสารคัดหลั่งของผู้ใส่ ไม่ให้ออกจากตัวเราสู่สิ่งแวดล้อม
4.ปรับบริเวณขอบหน้ากากให้แนบชิดกับสันจมูก
5.ปรับหน้ากากให้ครอบคลุม จมูก ปาก จนถึงคาง
6.กรณีมีการพูดสื่อสารกับบุคคลอื่น ควรพูดผ่านหน้ากาก
7.กรณีเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียว เมื่อใช้หน้ากากเสร็จแล้ว ควรถอดหน้ากาก ออกจากที่คล้องหูแล้วทิ้งถังขยะทันที และควรทิ้งแยกจากขยะทั่วไปด้วย
8.หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณส่วนกลางของหน้ากาก เนื่องจากอาจมีส่วนของสารคัดหลังติดอยู่
9. หลังถอดหน้ากากแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดทันที
วิธีการเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่ควรละเลย หากคิดจะผ่านวิกฤติโรคร้ายนี้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่การป้องกันตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการใส่ใจสังคมทางอ้อมด้วย เป็นการลดอัตราการแพร่เชื้อ อย่างน้อยเรา (สำหรับผู้มีสุขภาพแข็งแรง) ก็ไม่ได้ทำตัวเป็นภาระสังคมพาตัวเองไปเสี่ยงกับเชื้อโดยไม่จำเป็นหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และกลายเป็นพาหนะโดยไม่ได้ตั้งใจ
เพราะการต่อสู้กับโรคระบาดเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องต่อสู้ไป ‘ด้วยกัน’
ข้อมูลอ้างอิง: https://www.chula.ac.th/news/27741/
บทความเกี่ยวกับ COVID-19: https://www.naturalandorganic.com/feature/covid-19-world-report/