ทำไมผู้ชายพ่ายไวรัสซาร์ส-โควี-2 หรือ Covid-19 ง่ายกว่าผู้หญิง

ระหว่างที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 หรือ Covid-19 ทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยของประเทศต่างๆ พากันค้นคว้าและทำความเข้าใจกับไวรัสตัวนี้มากขึ้น ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐของจีนได้แถลงรายงานเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในรายงานมีรายละเอียดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนและอัตราการตาย

ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสรุนแรงเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน และอัตราการล้มป่วยของชายและหญิงค่อนข้างใกล้เคียง แต่อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยชาย (2.8 เปอร์เซ็นต์) สูงกว่าผู้ป่วยหญิง (1.7 เปอร์เซ็นต์) อย่างมีนัยสำคัญ เป็นเพราะเหตุใด?

 

นักข่าวหญิงคนหนึ่งของ ‘นิวยอร์ก ไทม์ส’ หยิบยกเอาคำถามดังกล่าวไปสืบหาคำตอบ อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยชายที่สูงขึ้นอาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับนักวิจัยแล้วไม่ใช่ ซาบรา ไคลน์ (Sabra Klein) นักวิจัยหญิงเป็นผู้ให้คำตอบว่า นี่เป็นรูปแบบที่เราเห็นในการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เธอกำลังทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเพศในการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ และพบคำตอบว่า

ร่างกายของผู้หญิงสามารถต่อสู้กับไวรัสได้ดีกว่า การตอบสนองของภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย เช่นเดียวกันกับหน่วยความจำภูมิคุ้มกันในผู้หญิงยังช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อครั้งใหม่ด้วย

เหตุผลที่ระบบภูมิคุ้มกันในผู้หญิงมีความแข็งแรงกว่านั้นยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน การวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ความสามารถในการให้กำเนิดลูกอาจมีบทบาทต่อเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่นระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่พัฒนาดี พวกเขาจึงต้องพึ่งพาภูมิคุ้มกันผ่านทางน้ำนมของแม่ ยกตัวอย่างเช่นเด็กที่ได้รับน้ำนมแม่จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลงในช่วงสอง-สามเดือนแรกที่ลืมตาดูโลก

Photo by Chokniti Khongchum from Pexels

 นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือพันธุศาสตร์ขั้นพื้นฐานของเพศหญิงอาจมีบทบาทต่อเรื่องนี้ ในโครโมโซม X มียีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน อย่างที่รู้กันว่า ในเพศหญิงจะมีโครโมโซม X สองตัว (XX) ส่วนผู้ชายมีเพียงหนึ่งเดียว (XY)

นอกจากระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ปัจจัยการดำเนินชีวิตอาจมีบทบาทได้เช่นกัน เช่น ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง และบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 และความดันโลหิตสูง ในประเทศจีนผู้ชายสูบบุหรี่ทุกๆ สองคน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงมีเพียงสองเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สูบบุหรี่

ข้อมูลจาก ‘Chinese Center for Disease Control and Prevention’ เองก็บ่งชี้ว่า วิถีชีวิตของผู้คนมีส่วนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และเมื่อโควิด-19 ระบาดก็ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น อัตราการตายของประชากรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (10.5 เปอร์เซ็นต์) เบาหวาน (7.3 เปอร์เซ็นต์) โรคระบบทางเดินหายใจ (6.3 เปอร์เซ็นต์) และความดันโลหิตสูง (6.0 เปอร์เซ็นต์) ส่วนคนที่มีสุขภาพดีมีเพียง 0.9 เปอร์เซ็นต์ นี่อาจเป็นข้อมูลที่พอจะอธิบายถึงอัตราการตายที่สูงขึ้นในหมู่ผู้ชาย

ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ ผู้ชายดูเหมือนจะปล่อยปละละเลยมากกว่าผู้หญิง พวกเขามักไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อเกิดอาการของโรค ทำให้บ่อยครั้งได้รับการรักษาไม่ทันการณ์ และยังมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพน้อยลง

จากกรณีศึกษาระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้ชายล้างมือ หรือใช้สบู่ล้างมือน้อยครั้งกว่าผู้หญิง ดังนั้นจึงมีคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขให้หมั่นปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและชายยังพบในโรคติดเชื้ออื่นๆ อย่างเช่นการระบาดของซาร์ส และเมอร์สในอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกัน จากผลวิจัยที่เผยแผ่ในวารสาร Annals of Internal Medicine เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในฮ่องกงปี 2003 แสดงผลลัพธ์ให้เห็น แม้โดยรวมแล้วผู้หญิงจะล้มป่วยจำนวนมากกว่าผู้ชาย แต่อัตราการตายจากการติดเชื้อในผู้ชายกลับมีจำนวนสูงกว่าถึง 50 เปอร์เซ็นต์

Photo by theformfitness from Pexels

ระบบภูมิคุ้มกันเข้มแข็งช่วยได้

จากกรณีศึกษาล่าสุดระบุว่า ใครที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งนั้น ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวต่อโควิด-19 แต่ในความเห็นของนักระบาดวิทยากลับเป็นมุมต่างกันว่า ไม่มีมาตรการเฉพาะอันใดที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ นอกเสียจากการหลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันของตนเองอ่อนแอ และการถนอมรักษาและป้องกันตัวเองให้ดีเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการ…

  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินความพอดี
  • รักษาน้ำหนักตัวให้ปกติ
  • หมั่นออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารที่สมดุล ตามหลักโภชนาการ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพดี เพื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ในยุคปัจจุบัน

 

อ้างอิง:

https://www.focus.de/gesundheit/ratgeber/er-behandelte-erste-deutsche-patienten-ueber-52-000-geheilte-professor-erklaert-wie-unser-immunsystem-den-erreger-bekaempft_id_11736561.html

https://www.stern.de/gesundheit/covid-19-in-china–warum-mehr-maenner-am-coronavirus-sterben-als-frauen-9153780.html