ผลงานวิจัยที่จะเปิดเผยความน่าทึ่งของ “อาหารเพื่อสุขภาพ” ที่ไม่เพียงเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสุขภาพของคนเรา แล้วยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมกลไกการรับรู้และความเข้าใจของสมองอีกด้วย ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ มาร์กาเร็ต มอร์ริส (Margaret Morris) และศาสตราจารย์ ไมเคิล เคนดิก (Michael Kendig) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (New South Wales University) มีคำตอบ
การจะทำความเข้าใจ “อาหารเพื่อสุขภาพ” อาจทำให้คุณหมดแรงไปเสียก่อน เพราะทุกวันนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีตัวเลือกมากมายเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่รวมคำแนะนำเรื่องอาหารที่คุณได้รับข่าวสารจากทุกทิศทาง ส่งผลให้การเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพกลายเป็นโจทย์ที่ต้องตั้งคำถามว่า จริง ๆ แล้วอาหารที่ติดป้ายว่า “Good for Health” ใครเป็นคนกำหนด และดัชนีชี้วัดคำว่า “ดีต่อสุขภาพ” มาจากไหนกันแน่
ในเมื่อเราต่างก็รู้ดีว่า อาหารเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลสุขภาพ แต่หลักฐานที่เกิดขึ้นใหม่บ่งชี้ว่า “คุณภาพ” ของอาหารมีบทบาทสำคัญในการทำงานด้านประสาทการรับรู้ของคนเราเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารพุ่งความสนใจไปที่ ผัก ถั่ว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หรือแม้แต่อาหารหมักดอง จริงหรือที่การกินอาหารประเภทนี้สามารถปรับเปลี่ยนกลไกการทำงานของสมองที่แสนจะซับซ้อน เยียวยาจิตใจ และสามารถช่วยโลกได้จริงหรือ…?
งานวิจัยของ ศาสตราจารย์มาร์กาเร็ต มอร์ริส ประธานและหัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ และ ศาสตราจารย์ไมเคิล เคนดิก จะเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินอาหารที่ส่งผลต่อสมองของมนุษย์
“คนอ้วน” มักจะความจำสั้น
หลังจากที่ประชากรโลกจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะโรคอ้วนในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เหล่านักวิจัยจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นว่า อาหารที่ไม่มีประโยชน์ส่งผลเสียต่อประสาทการรับรู้ของคนเราได้หรือไม่ ? พวกเขาศึกษาตั้งแต่ประเภทของอาหารที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและเฝ้าติดตามผลในระยะยาว งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า “โรคอ้วน” มีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางการรับรู้ รวมถึงหน่วยความจำระยะสั้น ความสนใจ และการตัดสินใจของเรา
การวิจัยแสดงให้เห็นว่า หน่วยความจำระยะสั้นของผู้ที่กินไขมันและน้ำตาลสูงมักจะแย่ลง…!
ตรงกันข้ามกับคนที่กินอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพสมองที่ดีขึ้นและช่วยบำรุงสมองของผู้สูงอายุอีกด้วย นั่นพเพราะอาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีส่วนประกอบของผัก ผลไม้ ธัญพืช และถั่ว โดยเฉพาะ “น้ำมันมะกอก” ที่มีไขมันดีต่อสุขภาพ ทั้งยังจำกัดปริมาณการกินเนื้อแดงและน้ำตาลที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน ว่าแต่ผัก ถั่ว และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ดีต่อสมองของคนเราจริงหรือ…?
อาหารบูสต์พลังให้สมอง
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การกินผักสามารถชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะการกินผักในตระกูลกะหล่ำ (Brassicaceae) ที่มีเส้นใยสูง โฟเลต โพแทสเซียม และวิตามิน ได้แก่ บรอคโคลี่ กะหล่ำดอก ผักคะน้า ฯลฯ รวมถึงผักแคลและร็อคเก็ต เช่นเดียวกับผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อเราอายุมากขึ้น เช่นเดียวกับผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงและลดการอักเสบของร่างกาย นี่เองที่ทำให้ผลเบอร์รี่มีส่วนช่วยในการชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการทดลองในหนูและกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความจำพบว่า อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของเบอร์รี่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนความจำได้ดี เช่นเดียวกับ “ถั่ว” ซึ่งเป็นแหล่งไขมันไม่อิ่มตัว เกลือแร่ และวิตามิน จากการศึกษาในสัตว์แสดงให้เห็นว่า ถั่วช่วยเพิ่มการเรียนรู้และความสามารถในการจดจำ สอดคล้องกับหลักฐานชิ้นใหม่ที่ได้จากการทดลองในมนุษย์แสดงให้เห็นว่า ถั่วที่เป็นส่วนผสมในอาหารเมดิเตอร์เรเนียนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรับรู้และความสามารถในการพูดอย่างมีเหตุผลได้อีกด้วย
กินไขมัน (ดี) เพื่อสุขภาพกันเถอะ!
การกินอาหารเพื่อสุขภาพสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนนั้น ทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากปลา อะโวคาโด น้ำมันมะกอก และไขมันจากสัตว์ (ปริมาณเล็กน้อยจากเนื้อแดง) จากการที่ มาร์กาเร็ต และ ไมเคิล ได้ทำการทดลองกับหนูพบว่า อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูงส่งผลให้ระบบความทรงจำเสื่อมประสิทธิภาพลง ตรงกันข้ามกับอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อระบบความจำของหนูแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า การค้นพบครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้แน่นอนก็คือ การกินน้ำตาลหรือไขมันจากสัตว์มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการรับรู้และความจำของคนเรา
อาหารหมักดองดีต่อสุขภาพ…จริงหรือ?
เป็นเวลาหลายพันปีที่มนุษย์ค้นพบกระบวนการหมักดองเพื่อช่วยยืดอายุของผักสดและผลไม้ ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณแลคโตบาซิลัสและแบคทีเรียในลำไส้ให้แข็งแรงขึ้น เช่นเดียวกับการดื่มชาหมักหรือ “Kombucha” ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายใกล้เคียงกับการดื่มชาทั่วไป ทั้งยังมีโพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ และยีสต์ที่มีประโยชน์ รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียอันตรายและเชื้อโรคหลายชนิด
Kombucha เกิดจากการนำน้ำชา เช่น ชาดำ ชาเขียว ฯลฯ ผสมกับน้ำตาล จุลินทรีย์ และยีสต์ หมักอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ จนเป็นเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดและมีส่วนผสมหลักเป็นกรดน้ำส้ม (Acetic Acid) รวมถึงวิตามินบี ชาชนิดนี้จะให้ความรู้สึกซ่าและมีกลิ่นแอลกอฮอล์เล็กน้อยที่เกิดจากการหมัก เช่นเดียวกับ “คีเฟอร์” (Kefir) ที่ได้จากหมักนมสดของชาวตะวันออกกลาง ซึ่งกำลังอินเทรนด์ในออสเตรเลียและยุโรป แต่อาหารหมักดองยอดนิยมอื่น ๆ เช่น กิมจิ โยเกิร์ต กะหล่ำดอง ฯลฯ จะช่วยรักษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทว่านักวิทยาศาตร์กำลังพุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบของการกินอาหารหมักดอง เพราะมีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับความสำคัญของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีผลต่อการรับรู้และสุขภาพของคน อย่างที่รู้กันดีว่า อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายสามารถลดความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ งานวิจัยยังยืนยันแนวคิดนั้นด้วยผลการทดลองในหนูที่แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางสติปัญญาจากการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพคือ “อาหารตะวันตก” ส่วนใหญ่ที่มีไขมันและน้ำตาลอิ่มตัวสูง ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้นั่นเอง
อยากเป็นคน “อารมณ์ดี” ต้องรู้จักเลือกกิน
งานวิจัยยังเปิดเผยว่า การกินอาหารที่สมดุลและมีความหลากลายเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพ ไม่เพียงแค่ดีต่อร่างกายและสมองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อหัวใจด้วยเช่นกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้จากการทดลองกับกลุ่มคนทำงานที่ระบุว่า การกินผักและผลไม้ช่วยให้สุขภาพจิตของคนเราดีขึ้น ผู้เข้าร่วมการทดลองบอกว่า พวกเขามีความสุขมากขึ้น กังวลน้อยลง และมีความพอใจในชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น
นั่นหมายความว่า นักวิทยาศาตร์สามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงของ “คุณภาพอาหาร” และ “สุขภาพจิตที่ดีขึ้น” ของมนุษย์
รายงานของ The EAT-Lancet ที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2019) เปิดเผยความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินเพื่อสุขภาพ เช่น สภาพแวดล้อมมีผลต่อการกินอาหารของคนเรา อย่างการกินอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ที่ส่งผลให้ร่างกายได้รับมีไขมันที่ดี โปรตีนจากสัตว์ในปริมาณเล็กน้อย เน้นความสดใหม่ของวัตถุดิบ ปรุงน้อย และแปรรูปอาหารน้อย ทั้งยังช่วยลดขยะหรือของเสียที่เกิดจากอาหาร กระบวนการผลิตอาหารที่ส่งเสริมความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะท้ายที่สุดแล้ว “สุขภาพ” และความยั่งยืนของ “โลก” เป็นสองสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก!
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและอาหารอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นั่นเพราะอาหารที่ไม่มีประโยชน์ซึ่งมีไขมันและน้ำตาลสูง มีราคาถูกกว่าอาหารเพื่อสุขภาพ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การตระหนักถึงประโยชน์ของการกินอาหารเพื่อสุขภาพจะช่วยกระตุ้นให้คนเราสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยในการกินอาหารได้ เพราะคุณเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้วว่า การกินอาหารเพื่อสุขภาพช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ความดัน และช่วยให้สมองทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ช็อกโกแลต” ช่วยให้เราฉลาดขึ้น !
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Appetite ระบุว่า คนที่กินช็อคโกแลตอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งจะช่วยให้ความจำและการคิดเชิงนามธรรมดีขึ้น “มันเชื่อมโยงกับระบบประสาทการรับรู้และความเข้าใจของคนเรา” Merrill Elias นักจิตวิทยาให้สัมภาษณ์กับ Washington Post
ในปี 1970 อีเลียสได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถทางปัญญาของผู้คนกว่า 1,000 คนในนิวยอร์ก โดยเริ่มจากการมองหาความสัมพันธ์ระหว่างความดันโลหิตและการทำงานของสมอง จนเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วเขาได้เพิ่มชุดคำถามเข้าไปในแบบทดสอบการศึกษากับผู้เข้าร่วมโปรเจ็คต์ระยะยาวของ MSLS ว่า “พวกเขากินอะไรในแต่ละวัน” เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร
หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจคือ การทดลองของ จอร์จินา คริชตัน นักวิจัยด้านโภชนาการ แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย ในระหว่างปี 2001 ถึง 2006 ที่เปิดเผยถึงความเชื่อมโยงของช็อกโกแลตที่มีต่อสมองของเรา คริชตันได้ทำการทดสอบกับผู้เข้าร่วมโปรเจ็คต์ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่กินช็อคโกแลตน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และกลุ่มที่กินช็อกโกแลตอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยนักวิจัยพบว่า การกินช็อคโกแลตเชื่อมโยงอย่างมากกับการทำงานของสมอง
ในเรื่องนี้คริชตันบอกกับ Washington Post ว่า “คุณจะได้รับประโยชน์มากขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การจำหมายเลขโทรศัพท์ รายการช้อปปิ้ง หรือแม้แต่การทำสองสิ่งไปพร้อมกัน อย่างการพูดคุยและขับรถในเวลาเดียวกัน”
เพื่อที่จะดูว่า คนฉลาดมีแนวโน้มที่จะกินช็อกโกแลตมากขึ้นหรือว่าอาหารช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองได้จริงหรือไม่? นักวิจัยได้ทำการศึกษากับผู้เข้าร่วม 333 คน พบว่า ความสามารถทางปัญญาของพวกเขาไม่สามารถบอกได้ว่า เกิดจากการกินช็อกโกแลต “การศึกษาบ่งชี้ว่า ความฉลาดไม่อาจวัดผลได้จากปริมาณการบริโภคช็อกโกแลต แต่มีผลการรับรองที่บอกว่า ช็อกโกแลตส่งผลต่อความสามารถในการคิดของมนุษย์” อีเลียส กล่าว
การกินช็อคโกแลตเป็น “มื้อเช้า” ช่วยลดน้ำหนักได้…?
เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในกลุ่มนักโภชนาการ อย่างไรก็ดีการศึกษาในปี 2009 เกี่ยวกับอาหารที่มี “ฟลาโวนอล” เช่น ช็อกโกแลต ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น โดยการวิจัยพบว่า อาสาสมัครที่ดื่มโกโก้ร้อน (ที่มีสารฟลาโวนอลเข้มข้น) ในตอนเช้า สามารถคิดเลขในใจได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้พบว่า การกินเค้กช็อกโกแลตเป็นมื้อแรกของวันช่วยให้เราลดน้ำหนักได้
ในปี 2014 การศึกษายังชี้ให้เห็นว่า อาหารที่อุดมไปด้วยโกโก้สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียความทรงจำคล้ายกับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามนายอีเลียสย้ำว่า พวกเขาไม่ได้แนะนำให้เรากินช็อคโกแลตตลอดทั้งสัปดาห์
“สิ่งที่เราสามารถพูดได้ในตอนนี้ คือคุณสามารถกินช็อคโกแลตในปริมาณเพียงเล็กน้อยโดยไม่รู้สึกผิด ตราบเท่าที่คุณยังไม่นับรวมช็อคโกแลตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ” เขากล่าวเสริม
Ref: www.channelnewsasia.com / www.rd.com / www.businessinsider.com / www.telegraph.co.uk