‘น้ำแร่’ ในแง่มุมที่คุณ (ไม่) เคยรู้

ก่อนที่น้ำแร่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย คนไทยรู้จักน้ำแร่ในแง่ของความเชื่อเพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม และการนำมาใช้อาบแช่เพื่อรักษาโรคต่างๆ

น้ำแร่ธรรมชาติ เป็นน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำใต้ดินตามธรรมชาติ ซึ่งมีแร่ธาตุละลายปะปนอยู่ มีต้นกำเนิดจากน้ำบนพื้นดินไกลซึมผ่านชั้นหินและดิน ขณะเดียวกันก็ดูดซับเอาแร่ธาตุต่างๆ ลงไปขังเป็นแอ่งน้ำใต้ดิน และถูกแรงกดดันภายในโลก ทำให้ผุดขึ้นมาเป็นแหล่งน้ำบนผิวดินในรูปของน้ำพุร้อน หรือบ่อน้ำร้อน

ในเมืองไทยพบแหล่งน้ำพุร้อน 112 แหล่ง กระจายอยู่มากที่สุดทางภาคเหนือ รองลงมาคือภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีช่วงอุณหภูมิที่ 40-100 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ระหว่าง 6.4-9.5

แหล่งน้ำพุร้อนทางภาคเหนือและภาคตะวันตกส่วนใหญ่มีค่าฟลูออไรด์สูงมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างแรง ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนทางภาคใต้บางแหล่งมีลักษณะเป็นน้ำเค็ม

มีอะไรในน้ำแร่?

น้ำแร่ มีแร่ธาตุต่างๆ เป็นองค์ประกอบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชั้นหินและดินที่น้ำไหลผ่าน ดังนั้นน้ำแร่ธรรมชาติแต่ละแหล่งจะมีแร่ธาตุแตกต่างกัน แร่ธาตุที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ แคมเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โปแตสเซียม ไบคาร์บอเนต คลอไรด์ และซัลเฟต ส่วนแร่ธาตุอื่นๆ ที่พบในปริมาณน้อย ได้แก่ ฟลูออไรด์ ซีเลเนียม แมงกานีส ไนเตรต สังกะสี

 

‘น้ำแร่’ ในแง่มุมที่ควรรู้

ประโยชน์ของแร่ธาตุแต่ละชนิด

แคลเซียม เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน อีกทั้งยังป้องกันโรคหัวใจด้วย
แมกนีเซียม ช่วยในการเผาผลาญไขมันและเปลี่ยนเป็นพลังงาน แล้วยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตลรอล
โซเดียม ช่วยการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
โปแตสเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อหดและคลายตัวตามจังหวะการเต้นของหัวใจ
ไบคาร์บอเนต มีประสิทธิภาพในการใช้รักษาแผลในช่องปาก ช่วยลดอาการเจ็บคอที่เกิดจากกรดได้
คลอไรด์ ช่วยรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกาย และช่วยรักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
ซัลเฟต เป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนที่จำเป็นในร่างกาย
ฟลูออไรด์ ช่วยให้ฟันแข็งแรง
ซีเลเนียม ช่วยคงความยืดหยุ่นอ่อนเยาว์ของเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย
แมงกานีส ช่วยลดอาการอ่อนล้าของร่างกาย และสามารถช่วยในการป้องกันโรคกระดูกพรุน
ไนเตรด ช่วยควบคุมระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย
สังกะสี ช่วยในการสร้างเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน และสร้างสมดุลในร่างกาย

 

มาตรฐานน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อการบริโภค

น้ำแร่ธรรมชาติที่เป็นเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ ต้องมีคุณภาพเหมาะสมที่จะบริโภคได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำแร่ธรรมชาติ มาตรฐานเลขที่ มอก. 2208-2547 น้ำแร่ที่ดีต้องมีคุณลักษณะใส ไม่มีตะกอน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีแร่ธาตุในปริมาณที่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และมีปริมาณสารปนเปื้อน อันได้แก่ กัมมันตภาพรังสีรวมแอลฟา-บีตา (alpha-beta rays) และไซยาไนด์ (cyanide) ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งน้ำแร่ธรรมชาติที่นำมาบริโภคนั้นมีอยู่ 5 ประเภท ดังนี้

+ น้ำแร่ประเภทมีคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับหรือใกล้เคียงกับปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น

+ น้ำแร่ประเภทไม่มีคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่จะทำให้เกิดการละลายของเกลือไฮโดรเจนคาร์บอเนตที่มีอยู่ในน้ำ

+ น้ำแร่ประเภทขจัดคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ

+ น้ำแร่ประเภทเติมคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิด หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ

+ น้ำแร่ประเภทเติมคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่มีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการบรรจุ

 

 

ข้อควรคำนึงเมื่อคิดจะดื่มน้ำแร่

นอกเหนือจากคุณภาพของน้ำแร่ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้บริโภคยังควรคำนึงถึงด้วยว่า น้ำแร่นั้นมีคุณสมบัติใดเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น มีแร่ธาตุใดเพิ่มขึ้นที่ทำให้สภาพแตกต่างจากน้ำแร่ชนิดอื่นๆ ซึ่งคุณสมบัติพิเศษเหล่านั้นอาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคบางราย เช่น

+ สภาพเป็นกรดหรือด่างสูง การดื่มน้ำที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างบ่อยครั้งจะทำให้เสียสมดุลความเป็นกรดเป็นด่างของร่างกาย

+ รสชาติกร่อย เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมคลอไรด์สูงกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร จะไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต และความดันโลหิตสูง

+ มีฟลูออไรด์สูงกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลข้างเคียง เช่น ทำให้ฟันลายไม่เรียบ ฟันเป็นจุดขาวและกร่อนง่าย

+ มีธาตุเหล็กสูงกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจเป็นอันตรายในเด็กเล็ก

+ มีปริมาณของแข็งที่ละลายได้สูงกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจทำให้ปัสสาวะมากกว่าปกติ

+ มีซัลเฟตสูงกว่า 600 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจมีฤทธิ์ถ่ายท้อง

+ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภค เนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนผู้ใหญ่ปกติ

+ และสำหรับผู้บริโภคที่ทำงานหนักหรือเป็นนักกีฬาที่สูญเสียเกลือแร่ต่อวันในปริมาณสูง การดื่มน้ำแร่ธรรมชาติที่มีปริมาณแร่ธาตุที่สมดุลและมีสภาพเป็นกลาง จะช่วยชดเชยเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปได้

ที่สำคัญ ควรพิจารณาเครื่องหมายรับรองคุณภาพและฉลากที่ระบุรายละเอียด เช่น แหล่งที่มาของน้ำแร่ธรรมชาติ ส่วนประกอบของแร่ธาตุที่สำคัญ วันหมดอายุ โดยเฉพาะประเภทน้ำแร่เติมคาร์บอเนต

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการดื่มน้ำแร่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย และมีสุขภาพที่ดี