ดื่มน้ำเยอะแล้วดี หรือที่จริงเราเข้าใจผิดเรื่องการดื่มน้ำ

เราต่างเคยได้ยินว่า ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วดีต่อสุขภาพ แต่นักวิชาการบางคนกลับเห็นต่างเพราะการดื่มน้ำบางประเภทอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วทางเดินปัสสาวะ หรือแม้แต่เสียชีวิต ทำไมการดื่มน้ำถึงไม่ดีต่อร่างกายเสมอไป ? ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมีคำตอบที่จะทำให้พฤติกรรมการดื่มน้ำของคุณไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เหตุผลที่คุณควรให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำเป็นอันดับแรก เพราะร่างกายของเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบมากกว่า 70% นั่นเป็นเหตุผลที่เราควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ  6-8 แก้ว แต่การดื่มน้ำมาก ๆ ดีต่อสุขภาพจริงหรือ ? น้ำแบบไหนที่เราควรดื่ม ? ดื่มน้ำแบบไหนแล้วถึงจะดีต่อสุขภาพ ?

ในเรื่องนี้ ‘คุณดอนย่า’ วรันยา พวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ ผู้ได้รับทุนจากโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองไทย เพื่อไปศึกษาเรื่องน้ำและการบำบัดที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาทำงานให้กับกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำแร่ บ่อน้ำพุร้อน ฯลฯ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ รวมถึงให้คำแนะนำด้านสปาและวารีบำบัด พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้และเรื่องจริงจากประสบการณ์ของเธอ

เรื่องจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับการดื่ม ‘น้ำ’

หากอยากสุขภาพดี อารมณ์ดี และผิวพรรณเปล่งประกาย คุณควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว (แก้วขนาด 250 ml.) หรือดื่มให้ได้อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 2 ลิตร ขณะที่คนท้อง นักกีฬา หรือคนที่ทำงานกลางแจ้งควรดื่มน้ำมากกว่าปริมาณที่แนะนำ อาจารย์ดอนย่าบอกว่า เราสามารถดื่มมากกว่า 6-8 แก้วต่อวันได้ (ส่วนตัวเธอดื่มน้ำเฉลี่ยวันละ 5 ลิตร) แต่ให้ใช้วิธีค่อย ๆ จิบน้ำแทนการดื่มแบบรวดเดียวหมดแก้ว “ดิฉันมักจะวางขวดน้ำไว้ใกล้ตัวเสมอ ระหว่างวันก็ค่อย ๆ จิบน้ำไปเรื่อย ๆ แล้วจะไม่ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำชา กาแฟ หรือชานมไข่มุก

“อาหารที่เรากินส่วนใหญ่ 90% มีฤทธิ์เป็นกรดอยู่แล้ว น้ำพวกนี้มีค่า pH เป็นกรดยิ่งทำให้ร่างกายมีกรดมากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกรดเกิน กรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะอาหาร ส่วนการดื่มน้ำด่างหรือน้ำอัลคาไลน์ก็ส่งผลให้กระเพาะมีความเป็นด่างเกินทำให้ท้องอืดและอาหารไม่ย่อย”

“ดังนั้น เราควรดื่มน้ำแร่ธรรมชาติหรือน้ำกรองเพื่อช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะอาหาร และช่วยให้รู้สึกสบายท้องมากขึ้น”

อีกเรื่องที่คุณดอนย่าแนะนำคือ การสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายหลังดื่มน้ำ หากคุณดื่มน้ำเปล่าหนึ่งแก้วแล้วรู้สึกแน่นท้องอาจเป็นเพราะน้ำยี่ห้อนั้นมีขนาดโมเลกุลใหญ่เกินไป “เดี๋ยวนี้น้ำเปล่าหลายยี่ห้อที่วางขายก็มีการเติมแร่ธาตุต่าง ๆ ลงไป ทำให้อนุภาคของน้ำใหญ่ขึ้น ร่างกายจึงดูดซึมไปใช้งานได้น้อย ทำให้รู้สึกจุกได้ง่ายขึ้น”

น้ำแร่ธรรมชาติหรือน้ำกรองเพื่อช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของกระเพาะอาหาร

ขณะที่น้ำแร่ธรรมชาติ น้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำกรองจะมีโมเลกุลเล็กกว่า ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานในระบบต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว “อย่างการดื่มน้ำแร่หรือน้ำฝนที่ผ่านกระบวนการกรองตามธรรมชาติทำให้โมเลกุลของน้ำมีขนาดเล็กลง ร่างกายดูดซึมน้ำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เราจึงรู้สึกเบาสบายและสดชื่นหลังดื่มน้ำ เหมือนที่คนโบราณบอกว่าดื่มน้ำฝนแล้วชื่นใจนั่นล่ะ” อย่างไรก็ดี คุณดอนย่ายังแนะนำด้วยว่า ยุคนี้คุณอาจต้องพิจารณาแหล่งที่มาของน้ำแร่ตามธรรมชาติเพราะบางแหล่งอาจจะมีแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป ซึ่งอาจสะสมและตกค้างในร่างกายได้เช่นกัน เช่นเดียวกับน้ำฝนหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็ควรพิจารณาความสะอาดเป็นสำคัญ เพราะมลพิษทางอากาศหรือการปนเปื้อนของน้ำอาจส่งผลร้ายมากกว่าการดื่มน้ำเปล่าเสียอีก

ต้มน้ำก๊อกเสี่ยงต่อโรคมะเร็งจริงหรือ?

หลายปีที่คุณดอนย่าเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำของกระทรวงสาธารณสุขเธอพบว่า ชาวบ้านยังนิยมต้มน้ำก๊อกเพื่อหุงหาอาหารและชงกาแฟทุกเช้า “ส่วนตัวดิฉันไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้และพยายามให้ความรู้ชาวบ้านมาโดยตลอด เพราะน้ำก๊อกมีคลอรีนเมื่อนำมาต้มจนเกิดความร้อนจะแปรสภาพเป็น ‘คลอโรฟอร์ม’ หรือสารก่อมะเร็ง ดิฉันจึงแนะนำให้นำน้ำกรองมาหุงต้มหรือดื่มจะดีต่อสุขภาพมากกว่า”

ต้มน้ำก๊อกเสี่ยงต่อโรคมะเร็งจริงหรือ?

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยา เคยอธิบายเรื่องการกลายพันธุ์ของน้ำประปาในกรุงเทพ ฯ ให้กับมูลนิธิโลกสีเขียวไว้อย่างน่าสนใจ อ้างอิงจากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติเรื่อง ‘Mutagenicity of the Drinking Water Supply in Bangkok’ ในวารสาร Asian Pacific Journal of Cancer Prevention ชุดที่ 4 ปี 2003 ผลการศึกษาพบว่า น้ำประปาในกรุงเทพ ฯ และปริมณฑลมีสารก่อกลายพันธุ์อยู่เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่ก็มีข่าวดีจากงานวิจัยว่า การกรองน้ำ ต้มน้ำ ด้วยวิธีการแบบบ้าน ๆ ช่วยลดความเป็นพิษได้

“แต่ข่าวร้ายก็คือน้ำดื่มบรรจุขวดบางยี่ห้อมีสารก่อกลายพันธุ์ เพราะมาตรฐานการตรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดก่อนขึ้นทะเบียนไม่ได้บังคับให้มีการทดสอบความปลอดภัยด้วยวิธีการทดสอบเอมส์ ซึ่งใช้ในการทดสอบกระบวนการผลิตน้ำประปาของโลก”

“น้ำประปาของเมืองโลแกน ที่ผมไปใช้ชีวิตอยู่ราว 5 ปี เป็นน้ำที่ได้จากหิมะที่ละลายบนเขาแล้วทางเมืองได้ต่อท่อรับน้ำลงมาเก็บที่อ่างเก็บน้ำใหญ่ที่เชิงเขาใกล้มหาวิทยาลัย ก่อนส่งน้ำไปตามท่อของเมืองนั้นมีการทดสอบองค์ประกอบของน้ำว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานหรือไม่ ที่น่าสนใจคือ ความที่น้ำนั้นมาตามท่อที่ปิดมิดชิด โอกาสที่จะถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีจึงหมดไป น้ำที่ได้จึงใสและสามารถปล่อยเข้าระบบการประปาของเมืองได้โดยไม่ต้องใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค โดยลักษณะของน้ำที่ใสสะอาดเมื่อเปิดก๊อกน้ำแล้วดื่มได้เลยในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปนั้นมีหลายแห่ง แต่ต้องเป็นบริเวณที่เป็นเมืองเล็ก สะอาด และมีแหล่งน้ำที่ได้จากหิมะบนภูเขาสูง น้ำที่นำส่งทางท่อนี้ก็อาจไม่ต้องใช้คลอรีนฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นการลดการได้รับสารก่อกลายพันธุ์ที่เกิดจากการใช้คลอรีนได้”

น้ำดื่ม VS น้ำแร่…อย่างไหนดีกว่ากัน ?

บทความหนึ่งใน Medical News Today เผยแพร่เมื่อกลางปี 2019 เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มน้ำของชาวอเมริกันที่นิยมดื่มน้ำแร่บรรจุขวดมากกว่าน้ำประปา เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์จากธรรมชาติและประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำแร่มากกว่า แม้ว่าในสหรัฐอเมริกากระบวนการผลิตน้ำประปาต้องเป็นไปตามมาตรฐานพระราชบัญญัติน้ำดื่มปลอดภัย ที่กำหนดโดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) รวมถึงการจำกัดปริมาณสารปนเปื้อนในน้ำที่ส่งไปยังบ้านเรือน

หลายประเทศทั่วโลกนิยมเติมแร่ธาตุต่าง ๆ ลงไปในน้ำประปา เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม นั่นอาจทำให้น้ำประปาอาจมีปริมาณแร่ธาตุสูงซึ่งบางคนคิดว่าดีต่อสุขภาพ แต่แร่ธาตุในน้ำกระด้างจะก่อตัวเป็นตะกอนที่สามารถกัดกร่อนท่อส่งน้ำประปา ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนสนิมหรือท่อที่รั่วสามารถสร้างมลพิษให้กับน้ำดื่มได้เช่นกัน

ขณะที่น้ำแร่แหล่งน้ำใต้ดินธรรมชาติหรือน้ำแร่จากภูเขา ทำให้มีปริมาณแร่ธาตุสูงกว่าน้ำประปา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา (FDA) ระบุว่า น้ำแร่ที่ดีต้องมีค่า Total Dissolved Solids (TDS) หรือปริมาณของของแข็งแขวนลอยหรือละลายอยู่ในน้ำ รวมถึงไอออน แร่ธาตุ เกลือ และโลหะ ซึ่งบ่งบอกความบริสุทธิ์ของน้ำและคุณภาพของน้ำ โดย FDA กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 250 ppm (ส่วนต่อล้าน) ทั้งยังห้ามผู้ผลิตเติมแร่ธาตุใด ๆ ลงในผลิตภัณฑ์ ขณะที่ค่า TDS ในน้ำของเมืองไทยอยู่ที่ 500 ppm และไม่ควรเกิน 1,000 ppm ซึ่งบ่งบอกว่า น้ำมีการปนเปื้อนสูงและไม่เหมาะในการใช้ในชีวิตปะจำวัน

น้ำดื่ม VS น้ำแร่…อย่างไหนดีกว่ากัน ?

โดยแร่ธาตุส่วนใหญ่ที่พบในแหล่งน้ำแร่ตามธรรมชาติ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม โซเดียม ไบคาร์บอร์เนต เหล็ก และ Zinc ที่ล้วนมีประโยชน์ต่อระบบการทำงานของร่างกาย แต่ต้องเป็นแหล่งผลิตที่ปราศจากการปนเปื้อน การเติมแร่ธาตุ และควบคุมการผลิตอย่างเคร่งครัด เช่น น้ำแร่ที่ได้จากฟยอร์ดแห่งประเทศนอร์เวย์ ที่รัฐบาลควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด และห้ามให้มีการสัมผัสใด ๆ จากมนุษย์ โดยจะทำการส่งตรงจากหุบเขาหิมะในยุคน้ำแข็ง (Ice Age) จึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตน้ำแร่ที่สะอาดที่สุดในโลก และมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งยังมี TDS ต่ำที่สุดในปัจจุบัน

ดื่มน้ำมากเกินไปได้ไหม ?

ในวันที่อากาศร้อนจัดหรือหลังออกกำลังกายไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการดื่มน้ำเย็นอีกแล้ว นั่นเป็นวิธีที่ร่างกายจะคงความชุ่มชื้นและปรับสมดุลอุณหภูมิภายในร่างกายไม่ให้ร้อนเกินไป ทว่าในบางกรณีการดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็วอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากระดับของเกลือหรือโซเดียมที่อยู่ในเลือดของเราจะลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะ ‘Hyponatremia’ หรือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำที่อาจร้ายแรงถึงชีวิต อย่างที่เคยเห็นข่าวคนแข่งกันดื่มน้ำแล้วเสียชีวิตนั่นล่ะ!

พูดง่าย ๆ ก็คือ ‘เกลือ’ หรือโซเดียมช่วยในการปรับสมดุลของเหลวในร่างกาย เหมือนเวลาที่เราท้องเสียแล้วคุณหมอแนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียโซเดียมนั่นล่ะ ทว่าในคนปกติการดื่มน้ำมากเกินไปในเวลารวดเร็วอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุล ปริมาณโซเดียมในเลือดเจือจางจนอาจเข้าสู่ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ซึ่งของเหลวจะไหลจากเลือดเข้าไปภายในเซลล์ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ โดยอาการบวมในสมองนั้นรุนแรงและต้องได้รับการรักษาทันที บางครั้งเด็กทารกอาจมีปัญหานี้ได้เพราะร่างกายของพวกเขายังเล็กมากจนไม่สามารถจัดการกับน้ำส่วนเกินได้ดีพอ นั่นเป็นเหตุผลที่คุณหมอมักจะแนะนำว่า ทารกควรดื่มนมเท่านั้น

ถึงจะร้อนหรือกระหายน้ำแค่ไหนเราแนะนำให้คุณค่อย ๆ จิบน้ำช้า ๆ อย่ารีบดื่มเร็วจนเกินไป “โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกายแนะนำให้ค่อย ๆ จิบน้ำเกลือแร่หรือน้ำอุณหภูมิห้องและไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด เพราะร่างกายหลั่งกรดแลคติกออกมา ถ้าคุณดื่มน้ำเย็นจะส่งผลให้ร่างกายและระบบย่อยอาหารทำงานหนักขึ้นหรือเสี่ยงต่อหัวใจวายได้” คุณดอนย่ากล่าว

ก่อนนอนห้ามดื่มน้ำจริงหรือ ?

ในฐานะที่คุณดอนย่าได้รับเชิญเป็นวิทยากรเรื่องน้ำในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เธอได้พบกับคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่เสมอ ซึ่งเธอมักจะแนะนำให้พวกเขาดื่มน้ำอุณหภูมิห้องก่อนนอนและตอนเช้า ส่วนตัวเธอเองก็ดื่มน้ำก่อนนอนมากถึง 2-3 แก้ว คุณดอนย่าเล่าให้ฟังว่า

“มีหลายคนถามดิฉันว่า ดื่มน้ำก่อนนอนจะทำให้ลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ยิ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้วพอตื่นกลางดึกก็หลับยาก จากประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไต ดิฉันแนะนำให้ดื่มน้ำก่อนนอนและดื่มทันทีที่ตื่นนอนโดยไม่ต้องแปรงฟันตอนเช้า 1-2 แก้ว และควรดื่มน้ำแร่ที่อุณหภูมิห้อง

“ช่วงแรกคุณอาจลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ้าง แต่หลังจาก 2 สัปดาห์แล้วร่างกายจะปรับตัวจนคุณไม่ต้องลุกเข้าห้องน้ำอีก เพราะปกติแล้วคนมักจะหัวใจวายตอนเช้าการดื่มน้ำอุณหภูมิห้องก่อนนอนจะช่วยป้องกันภาวะเลือดหนืดและช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ส่วนการดื่มน้ำเป็นสิ่งแรกในตอนเช้าจะช่วยให้เซลล์ดูดซึมน้ำและปรับกระบวนการย่อยอาหารให้ดีขึ้น”

ทว่างานวิจัยของ National Sleep Foundation ระบุว่า การดื่มน้ำก่อนนอนอาจทำให้คุณลุกเข้าห้องน้ำบ่อยและส่งผลกระทบต่อการนอนหลับต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง ระหว่างที่เรานอนหลับร่างกายจะสูญเสียน้ำประมาณ 1 ถึง 1 ปอนด์ครึ่ง (ประมาณ 0.45-0.70 กิโลกรัม) ผ่านการหายใจ เหงื่อ และการลุกเข้าห้องน้ำ ยิ่งถ้าคุณดื่มน้ำมากเกินไปก่อนนอนจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น และส่งผลต่อการหลับ ๆ ตื่น ๆ ขณะที่ผู้สูงอายุอาจต้องทุกข์ทรมานจากสภาวะที่ต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อยในตอนกลางคืน เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะไว เบาหวาน และยาบางชนิดก็มีส่งผลให้ต้องใช้เข้าห้องน้ำบ่อยเช่นกัน ทางออกที่ดีที่สุดคือ งดดื่มน้ำอย่างน้อยสามชั่วโมงก่อนเข้านอน

อย่างไรก็ดี คุณดอนย่ายังเสริมด้วยว่า การดื่มน้ำมาก ๆ ในตอนกลางวันจะส่งผลต่อระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร การขจัดของเสียในร่างกาย และช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งอยู่เสมอ รวมถึงน้ำยังสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น

เธอใช้การดื่มน้ำในการรักษาผู้ป่วยโรคไตให้กลับมาแข็งแรง เคยช่วยชีวิตผู้โดยสารบนเครื่องบินที่มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันด้วยเทคนิคการใช้น้ำร้อนสลับน้ำเย็น เธอแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 แก้วหลังดื่มกาแฟหรือชา 1 แก้ว เพื่อปรับสมดุลกรด-ด่างของกระเพาะอาหาร  

คนที่มีผื่นคัน ผิวแพ้ง่าย คุณดอนย่าแนะนำให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้ริมฝีปากและผิวนุ่มละมุนชุ่มชื่น ขณะที่การแช่น้ำอุ่นก่อนนอนจะช่วยปรับสมดุลความดันโลหิตและรู้สึกผ่อนคลาย โดยผู้ที่มีความดันสูงคุณดอนย่าแนะนำให้แช่น้ำอุ่นราว 15-20 นาที เพื่อช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวและเลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่วนคนที่มีความดันต่ำแนะนำให้แช่น้ำอุ่นราว 5 นาที

สำคัญที่สุดควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ และควรเลือกดื่มน้ำที่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีแต่คุณเท่านั้นที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง

4 เทคนิครักษาสมดุลของ ‘น้ำในร่างกาย’ ให้สดชื่นตลอดวัน

  • กินผักและผลไม้สด
  • ดื่มน้ำหนึ่งแก้วก่อนและหลังมื้ออาหาร (คุณดอนย่าแนะนำว่า ไม่ควรดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารเพราะรบกวนการย่อยอาหาร)
  • ดื่มน้ำก่อนและหลังการออกกำลังกาย (คุณดอนย่าแนะนำให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง และควรดื่มน้ำเกลือแร่)
  • ดื่มน้ำเมื่อรู้สึกหิว เพราะบางครั้งอาการกระหายน้ำอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นความหิวได้