ปรับสมดุลหยิน-หยางร่างกายสไตล์ ‘ซินแสไฮเทค’ อาจารย์มาศ เคหาสน์ธรรม

ในยุคที่การดูแลสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การปรับสมดุลร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เทรนด์การดูแลตัวเองใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับการหลั่งใหลของข้อมูลข่าวสารเรื่อง ‘การกินเพื่อสุขภาพ’ ที่หลายคนมักจะแชร์ต่อกันในโซเชี่ยล ฯ ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องที่ต้องเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์เสียมากกว่า แล้วอะไรคือการกินเพื่อสุขภาพ ? หรือที่จริงแล้วบรรพบุรุษยุคดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ได้ฝังพฤติกรรมการกินบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อร่างกายจนยากจะหักห้ามใจ ?

ท่ามกลางกระแสการกินเพื่อสุขภาพมากมาย จะรู้ได้อย่างไรว่า อาหารคลีน คีโต หรือเทคนิคการกินแบบฟาสติ้งจะส่งผลดีต่อร่างกาย อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เทคนิคการกินเพื่อสุขภาพของคนอื่นอาจไม่ดีสำหรับคุณเสมอไป หรือที่จริงแล้วคุณแค่ต้องการปรับสมดุลการกินอาหาร อย่างเช่นที่แพทย์แผนจีนคิดค้นศาสตร์นี้มากกว่าสองพันปี ในเรื่องนี้ อาจารย์มาศ เคหาสน์ธรรม เจ้าของฉายา ‘ซินแสไฮเทคระดับโลก’ ผู้คว่ำหวอดในแวดวงอาหารปรับสมดุลธาตุมานานนับสิบปี มีเรื่องราวดี ๆ ที่คุณควรรู้!

เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง

ถ้าไม่ชอบกินยา คุณต้อง “กินเป็นยา”  

ชาวจีนเรียนรู้ที่จะเข้าครัวเพื่อปรุงอาหารและสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่สองพันปีก่อน ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์แห่งโลกตะวันตกให้นิยามการรักษาของจีนว่า Traditional Chinese Medicine” หรือ TCM ศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ว่าด้วยการกินอาหารเป็นยาและการกินให้เหมาะกับสมดุลธาตุของแต่ละคน ด้วยเชื่อว่า ร่างกายของเราประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ เช่นเดียวกับคุณสมบัติที่แฝงอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่เรากิน

ชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่คิดค้นเรื่องการกินอาหารปรับสมดุลธาตุหรือ “หยิน-หยาง” ภายในร่างกาย ซึ่งส่งผลถึง “พลังชี่” หรือพลังชีวิตที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายของคนเรา ในคัมภีร์แพทย์แผนจีนโบราณได้มีการจดบันทึกวัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการปรุงอาหาร เช่น พืช สัตว์ สมุนไพร และส่วนผสมทางเคมีไว้อย่างละเอียดว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว หรืออาหารที่ช่วยให้เรารู้สึกเย็นสบายในฤดูร้อน ดังนั้น ชาวจีนจึงเชื่อเรื่องการกินอาหารเพื่อใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพราะเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายขาดสมดุลจะส่งผลให้เจ็บป่วยและเป็นโรคในที่สุด

อาจารย์มาศ เคหาสน์ธรรม “ซินแสไฮเทค” ผู้สนใจศาสตร์การแพทย์แผนจีนมานานนับสิบปี

อาจารย์มาศ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจศาสตร์การแพทย์แผนจีนมานานนับสิบปี ด้วยเพราะวัยเด็กเขามักจะเจ็บป่วยบ่อยและบางโรคไม่อาจรักษาให้หายขาดด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้เขาศึกษาตำราแพทย์ทั้งแผนตะวันออกและตะวันตกอย่างจริงจัง ก่อนจะประยุกต์ใช้ศาสตร์การดูแลสุขภาพในแบบปรับสมดุลหยิน-หยางเข้ากับองค์ความรู้ต่าง ๆ ในปัจจุบัน

“ตามหลักแพทย์แผนจีนเราต้องรักษาสมดุลหยิน-หยาง (ร้อน-เย็น) ในร่างกาย คนส่วนใหญ่มักจะสนใจเวลาตัวร้อนหรืออุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาฯ แต่กลับไม่สนใจเวลาอุณหภูมิร่างกายลดลง ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงและเจ็บป่วยง่ายขึ้น โดยสมดุลของร่างกายจะส่งผลต่อ ‘ชี่’ หรือการเคลื่อนที่ของพลังงานภายในร่างกาย คนที่มีพลังชี่ต่ำจะส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง เช่น คนที่มีพลังชี่ของหัวใจต่ำทำให้หัวใจอ่อนแอ เต้นไม่เป็นจังหวะ ถ้าชี่ในกระเพาะไม่เพียงพอจะส่งผลให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นต้น

หลักแพทย์แผนจีนเราต้องรักษาสมดุลหยิน-หยาง (ร้อน-เย็น) ในร่างกาย

“วิธีสังเกตตัวเองง่าย ๆ คือคนที่ร่างกายจัดอยู่ในกลุ่มเย็น อุณหภูมิร่างกายจะต่ำกว่าคนทั่วไป มือ-เท้าเย็น ขี้หนาว หายใจไม่เต็มปอด ลิ้นเป็นฝ้า คนกลุ่มนี้ควรเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็นและกินผักต้มหรือผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน ขณะที่คนที่จัดอยู่ในกลุ่มร้อนจะขี้ร้อน ร้อนใน มีแผลในปาก หน้าแดง ความดันสูง น้ำตาลในเลือดสูง ควรกินสลัดผักหรือน้ำผลไม้คั้นสดเพื่อช่วยให้ร่างกายเย็นลง หยิน-หยางจึงเป็นเรื่องของหลักการกินให้สัมพันธ์กับร่างกายนั่นเอง”

นอกจากนี้ อาจารย์มาศยังแนะนำเทคนิคง่าย ๆ ในการจำแนกผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน-เย็นแบบไม่ต้องท่องจำ “ผมอาศัยความเข้าใจในหลักการมากกว่า เช่น ผลไม้ที่กินแล้วให้ฤทธิ์ร้อนมักจะมีเม็ดใหญ่เมื่อเทียบกับผลของมัน เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ ลำไย ขนุน มะม่วง อะโวคาโด เช่นเดียวกับผักที่มีก้านใหญ่และก้านแข็งจัดเป็นกลุ่มร้อน เช่น คะน้า บล็อกโคลี กระเพา ส่วนผักที่มีลักษณะกลวงหรืออุ้มน้ำจะมีฤทธิ์เย็น เช่น ผักบุ้ง กระเฉด เช่นเดียวกับผลไม้กลุ่มเย็นที่มีลักษณะกลวง ฉ่ำน้ำ และเม็ดเล็ก เช่น มะพร้าว มะละกอ แตงโม สัปปะรด จึงเป็นเหตุผลที่หมอจีนถึงห้ามกินแตงโมหรือผลไม้ฤทธิ์เย็นระหว่างกินยาจีน เพราะไปลดประสิทธิภาพการรักษาโรคของสมุนไพรฤทธิ์ร้อนนั่นเอง”

‘โรคฮิตคนยุคใหม่’ ที่บรรเทาได้ด้วยการปรับสมดุลธาตุ

ข่าวการตัดสินใจจบชีวิตของคนดังของเมืองไทยและระดับโลกที่มีสาเหตุมาจาก ‘โรคซึมเศร้า’ เช่นเดียวกับหลายคนทั่วโลกที่กำลังเจ็บป่วยด้วยอาการนี้ ทว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับแพทย์แผนจีนที่ค้นพบแนวทางการรักษามานับศตวรรษ “แพทย์จีนเชื่อว่า โรคนี้เกิดจากร่างกายมีภาวะเย็นเกินไป คุณจึงควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ขิง ข่า กระเพา กระชาย ดื่มกาแฟ หมอจีนยังมีสมุนไพรรักษาโรคซึมเศร้าอีกด้วย” อาจารย์มาศกล่าว

การปรับสมดุลธาตุช่วยบรรเทา ‘โรคฮิตคนยุคใหม่’ ได้ด้วย

ขณะที่โรคนอนไม่หลับเกิดจากความไม่สมดุลของหยิน-หยาง โดยจำแนกเป็นอาการนอนไม่หลับจากหยิน (ร้อน) เกิน หรือหยาง (เย็น) เกิน “สังเกตได้จากคนที่มีภาวะร้อนเกินจนนอนไม่หลับ ส่งผลให้ของเสียตกค้างและเกิดการอักเสบภายในร่างกาย พวกนี้จะใช้สมองเยอะจนสมองชัตดาวน์ไม่สมบูรณ์ ทำให้นอนไม่หลับ ผมแนะนำให้กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น สลัดผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อปรับสมดุลร่างกายให้เย็นลงและหลับง่ายขึ้น หรือกินยาจีน ‘เทียน อ๊วง โปว ซิม ตัง’ เพื่อบำรุงหัวใจและไต เพราะสองอวัยวะนี้เป็นหยิน-หยางแก่กัน หัวใจเป็นไฟที่กลางวันต้องหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนไตเป็นน้ำที่ช่วยให้พลังชี่ไหลเวียนและทำให้ร่างกายเย็นลง หัวใจและสมองผ่อนคลาย อธิบายแบบแพทย์ตะวัน คือต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไทรอยด์และเซราโทนินสงบลง เปลี่ยนเป็นเมลาโทนินที่ทำให้จิตใจสงบผ่อนคลาย ส่วนคนที่นอนไม่หลับชนิดฤทธิ์เย็นเกินทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกเกิดการคั่งของของเสียในร่างกายเช่นกัน แนะนำให้ดื่มน้ำขิงหรือน้ำอุ่น ๆ ก่อนนอนเพื่อปรับสมดุลให้ผ่อนคลายและหลับสบายขึ้น”

อีกหนึ่งโรคฮิตคนเมืองที่รักษาได้ด้วยแพทย์แผนจีนคือ ‘ไมเกรน’ ที่เกิดจากภาวะเย็นเกินไปของร่างกาย ทำให้เลือดหดเกร็ง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และเลือดเป็นกรด ส่งผลให้มีอาการปวดหัวรุนแรง “ส่วนมากมักเกิดกับคนที่ชอบกินน้ำตาล ของหวาน นม ชีส เพราะร้อยละ 90 ของอาหารที่เรากินกันทุกวันนี้มีฤทธิ์เป็นกรดสูง ทำให้เลือดหดเกร็ง ยิ่งกินมาก ๆ ก็ทำให้ไมเกรนขึ้นง่าย แนะนำให้กินผลไม้ฉ่ำน้ำหรือน้ำผักที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อให้เลือดคลายตัวและไหลเวียนได้ดีขึ้น”

ติดหวาน ระวังป่วยด้วยโรค 108 ชนิด

สำนวนที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ยังใช้ได้ดีกับศาสตร์แพทย์แผนจีนอีกด้วย ชาวจีนเชื่อว่า น้ำตาลหรือของหวานส่งผลให้ร่างกายมีความเป็นหยางสูง ในเรื่องนี้อาจารย์มาศบอกว่า “ผลวิจัยระบุว่า น้ำตาลทำให้เป็นร้อยกว่าชนิด ทั้งสมาธิสั้น ไมเกรน แก่เร็ว ผื่นคัน หรือภูมิแพ้ผิวหนัง เพราะน้ำตาลจะไปเลี้ยงเชื้อโรคไม่ดีในลำไส้ เช่น เชื้อราประเภทยีสต์ชนิดหนึ่งที่ชื่อ ‘แคนดิดา’ (พบในทางเดินอาหารและช่องคลอด) ซึ่งได้จากเมล็ดธัญพืชที่นำมาหมักเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตแป้ง แปรรูปเป็นขนมปัง พิซซ่า เชื้อราชนิดนี้จะฝังตัวอยู่ตามผนังลำไส้และกินน้ำตาลหรือของบูดเน่าเป็นอาหาร

“ทีนี้เชื้อราที่อยู่ในลำไส้ของคนเราจะกระตุ้นให้ร่างกายอยากกินน้ำตาล แป้ง นม ชีส น้ำผลไม้ หรือของหวาน ๆ มากขึ้นเพื่อไปหล่อเลี้ยงพวกมันให้เจริญเติบโตได้ดี พอติดหวานคุณก็เจ็บป่วยง่าย ตามมาด้วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ คุณจึงต้องกินอาหารฆ่าเชื้อราที่มีฤทธิ์ร้อนจำพวกขมิ้น ขิง เครื่องเทศต่าง ๆ ที่ช่วยขับไล่เชื้อราได้ดี” อาจารย์มาศยังบอกด้วยว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงน้ำตาลหรือของหวาน หากเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ค่อย ๆ ลดปริมาณการรับประทานลงจนถึงเลิกติดหวานได้จะดีที่สุด

ตามหลักแพทย์แผนจีน ‘น้ำ’ เป็นตัวนำพาพลังชี่ให้ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

ปรับสมดุลร่างกายด้วย ‘น้ำ’ ตามหลักแพทย์แผนจีน

บางทีเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการดื่มน้ำ อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการปรับสมดุลหยิน-หยางและความแข็งแรงของร่างกาย “ที่น่าเป็นห่วงคือคนส่วนใหญ่ดื่มน้ำไม่เป็นครับ ตามหลักแพทย์แผนจีน ‘น้ำ’ เป็นตัวนำพาพลังชี่ให้ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย บางคนดื่มน้ำน้อยเลือดจะข้นหนืดทำให้การไหลเวียนพลังงานไม่ดี บางคนดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรแต่ดื่มทีละเยอะ ๆ เลย อันนี้ยิ่งทำลายสุขภาพ เพราะร่างกายดูดซับน้ำเยอะเกินไปทำให้เม็ดเลือดห่างและเกิดภาวะเลือดจางชั่วคราว ร่างกายจึงเสียสมดุล ทางที่ดีควรจิบน้ำเรื่อย ๆ ระหว่างวันด้วยการวางขวดน้ำไว้ใกล้ ๆ นั่งทำงานก็จิบไปด้วยเพื่อเติมความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย

“แต่ไม่ควรดื่มน้ำระหว่างกินข้าวนะ เพราะกระเพาะอาหารผลิตกรดเข้มข้นเพื่อช่วยในการย่อยอาหารและฆ่าเชื้อโรคที่ปนมากับอาหาร ถ้าเรากินข้าวคำน้ำคำจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารเจือจาง เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารจะเติบโตได้ดีและส่งผลให้เราเจ็บป่วยได้ สังเกตง่าย ๆ เวลาที่เราไปกินข้าวกับเพื่อน เรากินเหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนท้องเสีย อาหารเป็นพิษ แต่บางคนไม่เป็นอะไรเลย นั่นเพราะการดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารที่มากเกินไป ดังนั้น แพทย์แผนจีนจึงแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยการปรับสมดุลการดื่มน้ำ ไม่ดื่มน้ำเร็ว ๆ ทีละมาก ๆ ไม่ดื่มน้ำเย็นจัด หลีกเลี่ยงน้ำหวานที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากจะทำให้เจ็บป่วยง่ายแล้วยังเสี่ยงต่อโรคอ้วน สิว กระ ฝ้า หน้าพัง รังแค และผื่นคันต่าง ๆ อีกด้วย”

ควรจิบน้ำเรื่อย ๆ ระหว่างวันด้วยการวางขวดน้ำไว้ใกล้ ๆ มือ

สิว กระ ฝ้า หน้าพัง ลงพุง…การกินเพื่อปรับสมดุลช่วยได้

แม้แต่ในเรื่องความสวยงามแพทย์แผนจีนก็กล่าวถึงพิษภัยของอาหารบางอย่างที่ส่งผลต่อความงามเช่นกัน “บางคนคิดว่าตัวเองมีหน้าท้อง ลงพุง เพราะกินเยอะแล้วอ้วน จริง ๆ อาจจะบวมลมก็ได้นะ เพราะร่างกายของคนเราผลิตลมหรือแก๊สเฉลี่ย 3-5 ลิตรต่อวัน ดังนั้น คนเราควรถ่ายวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยเพื่อขจัดเชื้อโรคที่หมักหมมในทางเดินอาหารไม่ให้เน่าเสียภายใน คนท้องผูกเป็นประจำให้ระวังมะเร็งลำไส้นะครับ ซึ่งปัญหาท้องผูกของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนเกิดจากดื่มน้ำน้อยไม่ถึง 2 ลิตรต่อวัน ร่างกายก็จะไปดูดน้ำจากอุจจาระออกมาใช้งาน ซึ่งเป็นน้ำที่เกิดจากร่างกายขจัดของเสียจึงเป็นน้ำไม่สะอาด แต่ด้วยความจำเป็นที่คุณดื่มน้ำน้อยร่างกายเลยต้องเอามาใช้งานแทน ทำให้สุขภาพไม่ดี ผิวไม่เปล่งปลั่ง ส่งผลต่อผิวพรรณทำให้เป็นสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ เพราะทุกอย่างเกิดจากการหมักหมมในลำไส้แล้วภูมิคุ้มกันไม่ดี ต่อให้ทาครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟสูง ๆ ทาครีมบำรุงแพง ๆ แต่ถ้าสมดุลของระบบข้างในไม่ดี มันก็เสี่ยงต่อการที่ผิวจะถูกแสงแดดและมลภาวะทำร้ายได้อยู่ดี

“นอกจากนี้ ชาวตะวันตกที่ชอบกินนม เนย ชีส จะเป็นสิว ฝ้า กระง่ายกว่าชาวเอเชีย สังเกตฝรั่งพวกสิ บ้านเมืองเขาโดนแดดน้อยกว่าเราอีกนะแต่กระฝ้าเต็มตัวเลย ขณะที่บรรพบุรุษของชาวเอเชียมีกระฝ้าน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย แต่ทำไมคนยุคนี้มีกระฝ้า นั่นเพราะการที่เรากินนม ขนมปัง ขนมเค้ก หรือชีส พูดง่าย ๆ ก็คือเรากินตามค่านิยมของตะวันตก แต่เราลืมคิดไปว่าร่างกายของเขาวิวัฒนาการการย่อยอาหารแตกต่างจากเอเชีย และวิวัฒนาการต้องอาศัยการปรับตัวถึงสามช่วงอายุคน ทีนี้ชาวตะวันตกดื่มนมเยอะ ซึ่งในนมมีสาร ‘แลคโตส’ ที่ทำให้เกิดภูมิแพ้และเจ็บป่วยง่าย ส่วน ‘เคซีน’ ทำให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนังต่าง ๆ เช่น กระ ฝ้า สิว รังแค ที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถขจัดได้หมด แล้วเราก็ไปหาสารเคมีมารักษาร่างกายแทน จนลืมไปว่าเรื่องง่าย ๆ อย่างการเลิกกินหรือกินให้น้อยลงก็ช่วยรักษาสุขภาพได้แล้ว”

อาจารย์มาศยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “หากคุณอยากมีสุขภาพแข็งแรงและผิวพรรณที่เปล่งปลั่ง คุณต้องรู้จักเลือกกินและอย่าเชื่อที่ใครแชร์ต่อ ๆ กันมาว่ากินแล้วดี

“สิ่งแรกที่คุณควรหาคำตอบคือ ร่างกายของเรามีความเป็นหยินหรือหยางมากกว่ากัน แล้วค่อย ๆ ปรับสมดุลการกินอาหารในแต่ละวันที่เหมาะสมกับสมดุลธาตุของเรา”

‘แพทย์แผนจีน’ ศาสตร์แพทย์ทางเลือกท่ามกลางเสียงวิพากษ์ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี แม้แพทย์แผนจีนจะดูเป็นศาสตร์ทางเลือกที่น่าสนใจในเวลานี้ แต่ทว่าหลังจากที่ World Health Assembly หนึ่งในหน่วยงานหลักของ World Health Organization หรือ ‘WHO’ ได้รับรองศาสตร์การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนหรือ TCM เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (2019) เสียงวิพากย์ของนักวิชาการก็แตกเป็นสองฝ่ายอย่างรวดเร็ว ในที่ประชุม Biomedical Community กล่าวว่า WHO มองข้ามพิษของยาสมุนไพรบางชนิด ทั้งยังขาดหลักฐานที่เชื่อมโยงในการรักษาบางประการ ขณะที่นักปกป้องสิทธิสัตว์บอกว่า ศาสตร์การกินเป็นยาของชาวจีนเป็นอันตรายต่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือ นิ่ม หมี แรด เป็นต้น

สอดคล้องกับความเห็นของ Dr. Arthur Grollman ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาและการแพทย์มหาวิทยาลัย Stony Brook ในนิวยอร์กเห็นด้วยว่า “มันเป็นการมอบความชอบธรรมให้กับการรักษาที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ ทั้งยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอย่างมาก นอกจากนี้การบริโภคสมุนไพรจีนโดยไม่รู้ประสิทธิภาพและความเป็นพิษของสมุนไพรแต่ละชนิด อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลกที่พร้อมจะกินโดยไม่เคยตั้งคำถาม”

ขณะที่การแพทย์แผนโบราณมีต้นกำเนิดในประเทศจีนโบราณ แต่ปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเอเชียรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลี นอกจากนี้ ชาวเอเชียยังใช้เวลากว่าหนึ่งทศวรรษในการประยุกต์องค์ความรู้ในการรักษานับพันปีของแต่ละชนชาติเข้าไว้ด้วยกัน Tarik Jasarevic โฆษกของ WHO ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN Health ว่า “ปัญหาที่เกิดจากการวินิจฉัยการรักษาด้วยแพทย์แผนโบราณนั้น มาจากการจัดทำเอกสารไม่ดีหรือไม่ได้รับการจดบันทึกและเก็บรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เราจึงพยายามทำการเชื่อมโยงแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนโบราณเข้ากับการพัฒนาที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล”