สินค้าออร์แกนิกกำลังเดินหน้า – อย่างน้อยประโยคนี้ก็มาจากฝ่ายข้อมูลของหน่วยงาน Mintel Global New Products Database (GNPD) ที่ทำการสำรวจตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก ทั้งประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ระหว่างเดือนสิงหาคม 2009 ถึงกรกฎาคม 2019 และพบว่า มีอัตราเติบโตจาก 6 เปอร์เซ็นต์เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ตลาดที่ยุโรปเติบใหญ่และแข็งแรงที่สุด รวมทั้งอเมริกาเหนือก็เป็นที่น่าจับตามอง
ยุโรปอยู่แถวหน้า
เมื่อดูพัฒนาการของอาหารและเครื่องดื่มที่ประทับตราออร์แกนิกในยุโรปแล้ว จะพบว่า ตลาดมีอัตราการเติบโตจาก 9 เปอร์เซ็นต์เมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนี้เพิ่มขึ้นถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ประเทศแถวหน้าสุดของยุโรปคือ ฝรั่งเศส มีอัตราการเติบโตของตลาดอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกเพิ่มขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ เยอรมนี ที่อัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ และสเปน 9 เปอร์เซ็นต์ รวมกันแล้วส่งให้ทวีปยุโรปครองตำแหน่งผู้นำทางสายนี้
ขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือ สินค้าออร์แกนิกก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ จาก 9 เปอร์เซ็นต์เมื่อทศวรรษก่อน ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ไม่ว่าเอเชียแปซิฟิก ลาตินอเมริกา หรืออาระเบียแอฟริกา ก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้จะเป็นอัตราที่น้อยเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
GNPD รายงานถึงปัจจัยของการเติบโตของตลาดออร์แกนิกในยุโรป เหตุเพราะผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสภาพแวดล้อมโลกมากขึ้น พอๆ กับความใส่ใจในเรื่องสุขภาพของตนเอง
GNPD ยังรายงานด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในยุโรปที่มีคำว่า ‘Free-From’ บนสลากนั้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้น 43 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคำว่า ‘Ethic’ บนสลาก
สินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในหมวดเพื่อสุขภาพและจริยธรรม นั่นเพราะวีแกนและมังสะวิรัติกำลังอยู่ในกระแสความนิยม ผู้ผลิตสินค้าจึงนำเอาเกษตรอินทรีย์เข้ามาเชื่อมโยง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับวีแกนจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นออร์แกนิกแทน ยิ่งผู้ผลิตรายไหนเลี่ยงที่จะใช้ส่วนผสมที่มาจากสัตว์ ก็ยิ่งมีโอกาสขยายกลุ่มเป้าหมายในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย
กลุ่มเป้าหมายหลัก และพื้นที่สำหรับเกษตรอินทรีย์
จากการสำรวจทางออนไลน์ของ GNPD พบว่า พลเมืองกลุ่มมิลเลนเนียลในยุโรป (อายุระหว่าง 25-34 ปี) และผู้บริโภคเจเนอเรชัน Z (16-24 ปี) จัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าเกษตรอินทรีย์ คนรุ่นใหม่วัยละอ่อนเหล่านี้นิยมซื้อสินค้าออร์แกนิก และยอมรับกับราคาที่แพงกว่าสินค้าทั่วไปด้วย
โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวชาวสเปน 38 เปอร์เซ็นต์มีความเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมีความคุ้มค่าสมราคา ส่วนเจนฯ Z ชาวเยอรมัน 27 เปอร์เซ็นต์เห็นพ้องกันตามนั้น
ว่าแต่ทำไมกลุ่มเจนฯ Z และมิลเลนเนียลถึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก? ข้อนี้ GNPD อธิบายว่า เด็กเจนฯนี้เติบโตขึ้นมาในยุคที่สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและการกินดีอยู่ดี อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมก็อยู่ในความสนใจของพวกเขา จึงมีความเป็นไปได้ว่า ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีโอกาสโต และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
ผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกที่มีจำหน่ายในตลาดยุโรป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม (โยเกิร์ต เนย เนยแข็ง) มีส่วนแบ่งอยู่ราว 6-10.5 เปอร์เซ็นต์ ไข่ 10.3 เปอร์เซ็นต์ ผัก-ผลไม้ 6.5 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสัตว์ 2.2 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1.3 เปอร์เซ็นต์
ในบรรดาชาวยุโรป ชาวสวิสยอมควักกระเป๋าซื้อสินค้าออร์แกนิกติดอันดับต้นเฉลี่ย 177 ยูโรต่อคน/ต่อปี ตามด้วยชาวเดนิช 162 ยูโร และลักเซมเบิร์ก 134 ยูโร
ทีนี้พูดถึงพื้นที่ของการเกษตรและปศุสัตว์ออร์แกนิกกันบ้าง อันดับต้นของโลกได้แก่ ออสเตรเลีย ซึ่งมี 12 ล้านเฮกตาร์เพื่อการนี้ รองลงมาคือ อาร์เจนตินา 3.8 ล้านเฮกตาร์ ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและจีน ประเทศละ 1.9 ล้านเฮกตาร์ ส่วนยุโรปนั้น ชาติออร์แกนิกที่สุดคือ สเปน และเป็นอันดับ 5 ของโลก
มาตรฐานออร์แกนิก
คำจำกัดความของสินค้าออร์แกนิก ตามเอกสารรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในส่วนของภาคการผลิตนั้น สถานที่เพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยงวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และฝ้าย (สำหรับผลิตเสื้อผ้า) ต้องเป็นไปตามกรรมวิธีเกษตรกรรมแบบชีวภาพ ฟาร์มเหล่านี้จะคำนึงถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ และคุณภาพชีวิตของสัตว์
สินค้าออร์แกนิกจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสิ่งที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต เช่น สิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสาธารณสุข
สินค้าออร์แกนิกจะได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพของสินค้าออร์แกนิกได้นั้น อย่างเช่นในกลุ่มประชาคมร่วมยุโรป จะต้องมีมาตรฐานฟาร์มออร์แกนิกตรงตามข้อบังคับของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ 834/2007 เรื่องการผลิตสินค้าออร์แกนิกและการติดสลากของสินค้าออร์แกนิก และปฏิบัติตามแนวทางของ IFOAM ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก
ส่วนเครื่องหมายรับรอง The European biological certificate หรือ Euro Leaf นั้นจะออกให้กับสินค้าออร์แกนิกทุกชนิดที่ทำการเพาะปลูกและผลิตในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากมาตรฐานที่ตั้งไว้สูงมาก ทั้งการควบคุม ความโปร่งใส และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ลักษณะของสินค้าออร์แกนิกที่จะผ่านเกณฑ์ได้มีดังนี้
+ ต้องมีวัตถุดิบออร์แกนิกที่ใช้ในการผลิตสินค้าอย่างน้อย ร้อยละ 95
+ ต้องระบุแหล่งที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน
+ ไม่มีการใช้สารเคมีฆ่าแมลง
+ ไม่มีการใช้ปุ๋ย
+ การผลิตสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ต้องคำนึงถึงคุณภาพและสุขภาพของสัตว์ระหว่างการเลี้ยงในฟาร์มด้วย
เครื่องหมายรับรอง Euro Leaf เริ่มประกาศใช้ในปี 2010 และกลายเป็นเครื่องหมายหลักสำหรับสินค้าออร์แกนิกทั้งหมดในสหภาพยุโรป
นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นมาตรฐานรับรองของแต่ละท้องถิ่นหรือประเทศ คล้ายกันกับของเมืองไทย ที่มีทั้งตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (A.C.T. – Organic Ariculture Cetification Thailand) หรือของท้องถิ่นก็มี องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.)
และที่ควบคู่มากับสินค้าออร์แกนิกยังมี การค้าที่เป็นธรรม หรือแฟร์เทรด มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารปลอดภัย ไปจนถึงเครือข่ายตลาดสีเขียว
ล้วนเป็นสินค้าทางเลือก ให้ทุกคนที่ใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิง: