ในปัจจุบันเราสามารถสัมผัส Essential Oil หรือน้ำมันหอมระเหยได้บ่อยครั้งขึ้น และหลากหลายมากขึ้น ในรูปแบบน้ำมันหอม เครื่องหอม หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
แต่จริงๆ แล้วน้ำมันหอมระเหยคืออะไร และน้ำมันหอมประเภทไหนที่ดีหรือเหมาะสำหรับเรา ที่นี่มีคำตอบ
น้ำมันหอมระเหยคืออะไร?
น้ำมันหอมระเหย เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากส่วนต่างๆ ของพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ทั้งลำต้น เปลือกผล เปลือกไม้ เนื้อไม้ ดอก ใบ ราก เมล็ดยาง ฯลฯ มีคุณสมบัติในการรักษาโรค ช่วยให้สุขภาพดี ผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยให้เกิดอารมณ์-ความรู้สึกที่ดีแก่ร่างกายและจิตใจ ใช้นวดตัวเพื่อบำบัด บำรุงผิวพรรณ ลดน้ำหนักหรือลดไขมันส่วนเกิน ฯลฯ น้ำมันที่มีโมเลกุลเล็กมากจะซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว มีคุณสมบัติเป็นน้ำมันที่ปราศจากไขมัน สามารถระเหย เจือจางได้เอง
การสกัดต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมาก ต่อน้ำมัน 1 กรัมบางครั้งต้องใช้วัตถุดิบ 150-5,000 กรัม โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันจากกุหลาบ ที่ต้องใช้กลีบกุหลาบจำนวนมหาศาลในการสกัดเป็นน้ำมัน ดังนั้นกุหลาบจึงเป็นหนึ่งในจำนวนน้ำมันหอมที่มีราคาแพงติดอันดับต้นๆ
ในกรรมวิธีการสกัดน้ำมันหอม นอกจากหัวเชื้อที่เป็นน้ำมันแล้ว ยังมี Hydrolate หรือน้ำหอมสกัดเป็นผลพลอยได้อีกด้วย
คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหย
พืชพันธุ์และน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีการผสมผสานของส่วนผสมที่เป็นเอกลักษณ์ และมีคุณสมบัติแตกต่างกัน แต่น้ำมันสกัดจากพืชบางกลุ่มก็ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน
อย่างเช่น คุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยูคาลิปตัส ขิง ลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ คาร์ดามอน สน ตะไคร้ มาจอแรม มินต์ ส้ม โรสแมรี ไม้จันทน์ ต้นชา โหระพา จูนิเปอร์ มะนาว มะกรูด และไซเปรซ
คุณสมบัติต้านไวรัส ได้แก่ ยูคาลิปตัส ลาเวนเดอร์ ไม้จันทน์ ต้นชา โหระพา ออเรกาโน อบเชย และมะนาว
คุณสมบัติต้านเชื้อรา ได้แก่ ยูคาลิปตัส ลาเวนเดอร์ พัตชูลี ไม้จันทน์ ต้นชา โหระพา จูนิเปอร์ และมะนาว
ผลการวิจัยของอัดนาน เรมมอล (Adnane Remmal) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเฟซ ในโมร็อกโก พบว่า น้ำมันหอมระเหยสามารถนำมาสกัดเป็นตัวยากำจัดเชื้อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะได้
น้ำมันหอมระเหยยอดนิยม
น้ำมันหอมระเหยมักถูกนำมาใช้ในศาสตร์สุคนธบำบัด หรือที่เรียกกันว่า ‘อโรมา เธอราพี’ ซึ่งเป็นการใช้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชมาบำบัดหรือรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ มีการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบำบัดด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น สูดดมกลิ่น ทาลงบนผิวหนัง นวดน้ำมัน หรือนำมาบริโภคโดยผสมกับชาหรือน้ำผึ้ง เป็นต้น
ปัจจุบันมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มากมายกว่า 90 ชนิด แต่ละชนิดต่างมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์และมีสรรพคุณแตกต่างกัน น้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทย มีดังนี้
น้ำมันหอมระเหยจากขิง นอกจากการดื่มชาขิงจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้แล้ว การสูดดมน้ำมันหมอระเหยจากขิงก็อาจช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้เช่นกัน มีการสำรวจพบว่า มีศูนย์มะเร็งแห่งหนึ่งได้ทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยนี้เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับการฉายรังสี
น้ำมันหอมระเหยจากมะนาว อาจช่วยปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติได้ เรื่องนี้นักวิจัยพบว่าผู้ที่เผชิญภาวะซึมเศร้าได้ใช้ยาต้านเศร้าในปริมาณลดลง หลังจากได้ดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจากมะนาว
น้ำมันหอมระเหยจากส้ม อาจช่วยระงับอาการวิตกกังวลได้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเคยทำกรณีศึกษาคุณสมบัติของพืชตระกูลส้ม พบว่าน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากส้มสามารถควบคุมความกดดันได้ และผู้ใช้ไม่มีอาการวิตกกังวลใดๆ เพิ่มขึ้น
น้ำหอมระเหยจากเปปเปอร์มินต์ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยจากเปปเปอร์มินต์ในกลุ่มผู้ทดลองที่เป็นคนขับรถ พบว่า กลุ่มผู้ทดลองรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นหลังจากดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้ ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบด้วยว่า นักบาสเกตบอลที่ดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้รู้สึกมีพลัง และสามารถเล่นบาสเกตบอลได้ดียิ่งขึ้น
น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ ช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น จากกรณีศึกษา พบว่ากลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ช่วยเพิ่มคลื่นสมองระดับอัลฟา (Brain Alpha Waves) ที่ส่งผลต่อภาวะผ่อนคลาย และการนอนหลับ รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ก่อนมีประจำเดือนได้ด้วย
การเลือกน้ำมันหอมระเหย
สิ่งซึ่งควรคำนึงในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย มีดังต่อไปนี้
คุณภาพ ควรเลือกน้ำมันหอมระเหยที่ปราศจากสารเคมี และผ่านกระบวนการสกัดด้วยวิธีการกลั่นหรือสกัดเย็น
ความบริสุทธิ์ เลือกน้ำมันหอมระเหยที่ปราศจากน้ำมันสังเคราะห์ ควรมีเพียงส่วนประกอบจากพืชกลิ่นหอมเท่านั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์มักจะใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ แทนการใช้ชื่อสามัญของพืชนั้นๆ
ความน่าเชื่อถือ ควรเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูงเท่านั้น
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหย
แม้ว่าน้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่ก็อาจไม่ปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากพืชและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพืชมักมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้บางรายได้ การสูดดมหรือทาน้ำมันหอมระเหยบนผิวหนังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เกิดอาการแพ้ มีอาการของโรคหืด อาทิ หายใจติดขัด หายใจไม่เต็มปอด เจ็บหน้าอก เป็นต้น
หากพบอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับตนเอง ควรหยุดใช้ หรือปรึกษาแพทย์