กว่าจะถึงมาตรฐานของคำว่า ‘ออร์แกนิก’

เราไม่เรียก ‘ออร์แกนิก’ ว่าเป็นเทรนด์ เพราะคำคำนี้คือวิถีปกติที่คนจำนวนมากให้ความสำคัญและใส่ใจต่อการบริโภคซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน ด้วยตระหนักในพิษภัยของอาหารที่มีการตกค้างของสารเคมีมากขึ้น บางคนเผชิญด้วยตัวเอง ขณะที่บางคนก็เกิดผลอย่างเห็นได้ชัดจากคนใกล้ตัว ที่ก็ไม่รู้เมื่อไรว่าโรคร้ายที่มีต้นกำเนิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนหรือตกค้าง จะก่อขึ้นในตัวเราเมื่อไร

ไม่ผิดนักหากจะมองว่าการเลือกกิน ‘อาหารออร์แกนิก’ ตั้งต้นมาจากความกลัว และความกลัวที่ว่านี้ก็ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนของเกษตรกร ที่เดิมต้องการสร้างผลิตผลซึ่งเป็นอาหารปลอดภัยไว้บริโภคเอง มาสู่การแบ่งปันผลผลิตสู่ตลาดเพื่อให้คนที่ไม่มีความสามารถในการผลิตได้มีโอกาสบริโภคด้วย ซึ่งมีปลายทางจำหน่ายอยู่ที่ร้านสินค้าออร์แกนิก หรือเปิดตลาดเฉพาะกิจเพื่อให้เป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าโดยเฉพาะ และตลาด’สีเขียว’ เหล่านี้จะเป็นที่รับรู้กันในกลุ่มผู้บริโภค ที่จะพากันหิ้วตะกร้ามาซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานก่อนเข้าตลาด

Photo by NeONBRAND on Unsplash

แต่ก่อนที่พืชผักเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดสินค้าออร์แกนิกนั้น ต้องผ่านกระบวนการหรือมีที่มาอย่างไร แล้วเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมคำว่า ‘ออร์แกนิก’ ถึงมีราคาแพง และกว่าจะได้มาซึ่งการติดตรารับรองว่าออร์แกนิกนั้น เกษตรกรต้องทำอะไรกันบ้าง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สินค้าในตลาดสีเขียวบางแห่งอาจไม่ใช่สินค้าออร์แกนิกทั้งหมด และมาตรฐานก็ขึ้นกับข้อกำหนดของตลาดนั้นๆ ด้วยเช่นกัน  สมาชิกเครือข่ายตลาดสีเขียวแห่งหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า ด้วยข้อจำกัดของเกษตรกรบางราย ทำให้ไม่อาจผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่ออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ได้ในทันที เพราะข้อกำหนดของเกษตรอินทรีย์นั้นมีความเข้มงวดสูง ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้เกษตรกรกลุ่มนี้ได้ส่งผลผลิตเข้าตลาดด้วยได้ โดยใช้คำว่า ‘เกษตรปลอดภัย’ ‘ปลอดสาร’ หรือ ‘ไร้สาร’ แทน

คำว่า ‘ปลอดภัย’ ก็คือ พืชผักนั้นเพาะปลูกโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ได้ใช้สารพิษในการกำจัดศัตรูพืช แต่สามารถใช้ปุ๋ยเคมีในเแปลงเพาะปลูกได้

โดยมีค่าความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด มีการกำหนดระยะการเก็บผลผลิต เช่น สามารถนำไปจำหน่ายได้หลังจากพ้น 14 วันนับจากวันที่ให้ปุ๋ย เพื่อให้สารเคมีสลายตัวก่อน และการให้ปุ๋ยก็จะมีกำหนดตามกรอบที่จำกัด แต่ก็ต้องยอมรับว่าค่ามาตรฐานของประเทศไทยนั้นจะตั้งไว้สูงกว่าสากล  เช่น ประเทศไทยตั้งค่าการตกค้างของไนเตรตไว้ที่ 2.0 สากลตั้งค่าไว้ที่ 1.8 ดังนั้นผลผลิตที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของไทย จึงไม่ได้หมายความว่าได้ค่ามาตรฐานสากล และสินค้าเหล่านี้จะถูกตีกลับหากมีการส่งออกไปยังตลาดของประเทศที่ตั้งเกณฑ์ไว้ 1.8 เป็นต้น

Photo by Markus Spiske on Unsplash

ส่วนคำว่า ‘ออร์แกนิก’ หรือ ‘เกษตรอินทรีย์’ มีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่านั้นมาก และเกษตรกรเองก็ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ด้วยการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ที่กว่าจะผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) IFOAM ACCREDITIED ได้ประทับเครื่องหมาย Organic Thailand ซึ่งการจะได้มานั้นต้องตรวจสอบกันตั้งแต่สิ่งแวดล้อมในที่เพาะปลูก ไปจนถึงกระบวนการบรรจุเพื่อจัดจำหน่ายเลยทีเดียว

เริ่มจากระบบนิเวศ

ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องเอื้อต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพนิเวศท้องถิ่นดั้งเดิมเอาไว้ด้วย รวมทั้งมีมาตรการในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างจริงจัง ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน การอัดแน่นของหน้าดิน ดินเค็ม และการเสื่อมสภาพของดิน การใช้น้ำอย่างประหยัด ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำเสีย หรือปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ การหมุนเวียนน้ำมาใช้ใหม่ ไปจนถึงการวางแผนทำการเกษตร โดยคำนึงข้อจำกัดของทรัพยากรน้ำในท้องถิ่น

ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์

เกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ โดยสามารถปรับเข้าสู่ระบบทั้งหมดพร้อมกัน หรือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนก็ได้ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ในการฟื้นฟูดินให้ปลอดจากสารเคมี โดยระหว่างนั้นเกษตรกรสามารถทำการผลิตได้โดยพึ่งพาวิถีธรรมชาติ แต่ผลิตผลที่ได้จะยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือยังไม่ได้เป็นออร์แกนิกโดยสมบูรณ์

การปลูกพืช

ข้อกำหนดของเกษตรอินทรีย์ที่ต้องสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศ ชี้ให้การปลูกพืชมีหลากหลายพันธุ์และมีการปลูกหมุนเวียน โดยมีพืชที่เป็นปุ๋ยพืชสดรวมอยู่ด้วย ส่วนเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ ต้นกล้า จะต้องใช้พันธุ์พืชที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น

ดินและธาตุอาหาร

แหล่งธาตุอาหารพืชนั้นจะเน้นที่ผลิตขึ้นได้ภายในฟาร์ม หากจะใช้ธาตุอาหาร หรือปุ๋ยอินทรีย์และอินทรียวัตถุจากภายนอกฟาร์ม ควรเป็นแค่แหล่งธาตุอาหารเสริมเท่านั้น ไม่ใช่แหล่งทดแทน

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในแบบเกษตรอินทรีย์ จะเน้นวิธี ‘เขตกรรม’ คือการสร้างความแข็งแรงให้กับพืชจนพืชสามารถต้านทานโรคและแมลงที่เป็นศัตรูพืชได้ ด้วยการบำรุงดินและปรับสภาพแวดล้อมในฟาร์ม เพราะเมื่อระบบนิเวศสมดุล การรบกวนจากศัตรูพืชก็จะเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนแมลงนั้นจะต้องกำจัดด้วยวิธีกล เช่น ทำกับดัก โดยอาจล่อด้วยสมุนไพรหรือแสงไฟ ให้มาติดกับดักที่เป็นกรงขังหรือกับดักน้ำ รวมถึงการกำจัดด้วยวิธีชีวภาพ เช่น การใช้สมุนไพร ใช้แมลง หรือสารธรรมชาติอื่นๆ

ป้องกันมลพิษ การปนเปื้อน และการปะปน

การป้องกันไม่ให้ดินและผลผลิตปนเปื้อนมลพิษและสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร เป็นกฎเหล็กของการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการป้องกันการปนเปื้อนจากรอบนอกฟาร์ม จะต้องทำแนวกันชนรอบแปลงที่มีพื้นที่ติดกับแปลงเกษตรเคมีที่มีการใช้สารต้องห้าม หรือทำบ่อพักน้ำและบำบัดน้ำด้วยชีววิธีก่อนจะนำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตรได้ รวมไปถึงต้องทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรที่อาจปนเปื้อนสารเคมีก่อนนำมาใช้ด้วย

เก็บเกี่ยว-แปรรูป

ในขั้นของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ผู้ประกอบการจะต้องมีการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ให้ปะปนกันกับวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ หรือสัมผัสกับปัจจัยการผลิต หรือสารต้องห้ามต่างๆ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน

Photo by Markus Spiske on Unsplash

ทุกขั้นตอนต้องผ่านการตรวจสอบ

ในแต่ละปี ฟาร์มเกษตรอินทรีย์จะต้องได้รับการตรวจสอบปีละ 1-2 ครั้ง โดยเป็นการสุ่มตรวจตามข้อตกลง โดยผู้ตรวจสอบซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และมีความรู้ในเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของมาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งมีขอบเขตการตรวจสอบทั้งกระบวนการผลิตในฟาร์ม และระบบการจัดการผลิตผลและกระบวนการแปรรูป เมื่อผ่านการตรวจสอบจะได้ใบรับรองที่มีอายุเพียง 1 ปี จึงต้องมีสมัครขอต่ออายุใบรับรอง โดยให้มีการตรวจเยี่ยมฟาร์มทุกปี

 แต่การที่เกษตรกรไม่มีตรารับรอง ก็ไม่ได้หมายความผลผลิตจะไม่มีความปลอดภัยเสียทีเดียว เพราะในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอาจมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการทำเรื่องขอตรารับรอง เรื่องนี้จึงมีทางออกด้วยระบบชุมชนรับรอง หรือ PGS คือการรับรองแบบมีส่วนร่วมที่เกษตรกรในชุมชนจะรวมตัวเป็นเครือข่าย แล้วมีการตรวจสอบและรับรองกันเอง ซึ่งเป็นอีกการตรวจสอบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าปลอดสาร และนำจัดจำหน่ายในตลาดสีเขียวเช่นกัน

Photo by Farsai Chaikulngamdee on Unsplash

มาถึงตรงนี้คงพอจะคลายความสงสัยไปได้บ้างแล้วว่า ทำไมวัตถุดิบออร์แกนิกและวัตถุดิบปลอดสาร จึงได้มีราคาสูงทั้งที่ใช้วิธีการจัดการธรรมชาติทั้งหมด เพราะการจะฝ่ากรอบของวิถีเกษตรเคมีมาสู่เกษตรอินทรีย์อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เกษตรกรมีราคาที่ต้องจ่ายในรูปของความตั้งใจ อดทน การลงทุนขั้นต้น และทำงานหนักกว่าเป็นเท่าทวีที่ต้นทาง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคปลายทาง