‘Zero Waste’ ติดเทรนด์ New Year’s Resolution เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ทำเพื่อโลกกันแล้ว!

ทุกวันนี้ คนทั่วโลกตื่นตัวต่อปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลอย่างมาก ส่งผลให้กระแส Zero Waste หรือการลดขยะในชีวิตประจำวันให้เหลือศูนย์ได้รับการบรรจุใน New Year’s Resolution 2020 ของหลายคน ทั้งยังเป็นเทรนด์ที่ทำง่ายและไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ของอย่างนี้ขึ้นอยู่กับ ‘ใจ’ และมุมมองความคิดที่คุณมีต่อโลก เรามีเคล็ดลับสู่การเป็นชาว Zero Waste มือใหม่มาฝาก

เอาล่ะ! ก่อนอื่นคุณต้องค้นหาแรงบันดาลใจสู่การเป็นชาว Zero Waste เริ่มจากการตั้งคำถามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อตัวเอง ง่าย ๆ แค่สังเกตขยะพลาสติกบนถนน ชุมชม แม่น้ำลำคลอง หรือของสะสมในบ้านของตัวเอง (แต่ขาดการจัดการที่เป็นระเบียบ) มองแล้วไม่เจริญตาสบายใจเลยใช่มั้ยล่ะ ไหนจะสารพัดสัตว์และเชื้อโรคมากมาย

จากนั้นให้บอกตัวเองว่า คุณจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขยะเหล่านี้ ลองค้นหาไอดอล บล็อกเกอร์ หรือคนต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากลุกขึ้นมาทำความดี หรืออ่านได้ในหนังสือ Zero Waste Home: The Ultimate Guide to Simplifying Your Life by Reducing Your Waste ของ Bea Johnson เป็นตัวเลือกที่ดีเชียวล่ะ

Bea Johnson (บลี จอห์นสัน) ได้รับฉายา Mother of the zero waste lifestyle movement จาก CNN พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เธอเป็นคุณแม่แห่งวงการ Zero Waste เลยล่ะ เธอเป็นชาวฝรั่งเศสที่ปัจจุบันครอบครัวของเธอใช้ชีวิตอยู่ใน Mill Valley แคลิฟอร์เนีย บลีลุกขึ้นมาจุดประกายไลฟ์สไตล์นี้ตั้งแต่ปี 2008 และทุกวันนี้คนทั่วโลกก็ยังคงยึดเคล็ดลับการใช้ชีวิตเรียบง่ายสไตล์ Zero Waste ราวกับหนังสือของเธอเป็นไบเบิ้ลสำหรับหลายคนเลยล่ะ

‘5Rs’ ท่องไว้ให้ขึ้นใจ

กฎข้อแรกที่บลีอยากให้คุณท่องจำให้ขึ้นใจคือ 5Rs รับรองว่า ใคร ๆ ก็ทำได้ขอแค่ตั้งใจจริง

‘Reduce’ กฎข้อแรกคือการลดของไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันลง ใครที่เคยดูรายการของมาริเอะ คนโด (Marie Kondo) ที่ออนแอร์ทาง Netflix คุณจะพบว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นร่างเล็กคนนี้ช่างเป็นนักจัดการที่เก่งฉกาจตัวยง มาริเอะชวนคุณมาตัดใจจากของสะสม อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือ ของแต่งบ้าน ฯลฯ ที่คุณไม่ค่อยใช้หรือไม่ได้สัมผัสมานานปี ใช้เวลาวันหยุดเอาสิ่งของเหล่านั้นมากองตรงหน้า แล้วค่อย ๆ ถามตัวเองว่า ชิ้นไหนที่คุณยังต้องการ ใช้งานได้บ่อย หรือชิ้นไหนที่ตัดใจปล่อยไปให้คนอื่นได้ อารมณ์แบบสมบัติผลัดกันชมนั่นล่ะ นี่จะช่วยให้คุณลดการสร้างขยะได้ด้วย

กฎข้อต่อมาคือ ‘Refuse’ ด้วยการปฏิเสธสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ตาโตปล่อยใจไปกับคำว่า ‘Sale’ ‘Promotion’ ‘Hot Deal’ ที่บ่อยครั้งทำให้คุณได้ของไม่จำเป็นมากองเต็มบ้าน ปฎิเสธการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ลดการกินอาหารขยะหรือ Junk Food ที่ทำให้อ้วนง่าย แล้วหันมากินพืช ผัก ผลไม้ออร์แกนิคหรือปลอดสารพิษ รวมถึงเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเมกอัพที่ปราศจากสารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

กฎข้อที่สามคือ ‘Reuse’ เมื่อคุณลด ละ เลิก ได้เรื่อย ๆ แล้วก็ถึงเวลาที่คุณจะเลือกใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พกถุงผ้าไว้ใส่ของกระจุกกระจิกเวลาไปตลาด มินิมาร์ท หรือช้อปปิ้ง แทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า นำแก้วไปซื้อกาแฟในคาเฟ่ หรือพกปิ่นโตใส่อาหารเที่ยงไปด้วยเลยก็ได้

ตามด้วยกฎข้อสี่ที่ว่าด้วยการ ‘Recycle’ หรือการเลือกใช้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุต่าง ๆ ที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิล เพื่อช่วยลดการสร้างขยะ ลองหาแรงบันดาลใจหรือไอเดียเก๋ ๆ ในการ D.I.Y ภายในบ้านได้ในอินเตอร์เน็ตและ Pinterest ที่ทั้งน่ารักและสารพัดประโยชน์ แถมได้ความภูมิใจด้วยนะ

สุดท้ายคือ ‘Rot’ หรือการนำเศษอาหารในครัวเรือนเข้าสู่กระบวนการหมักเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ปัจจุบัน SMEs หลายแบรนด์ในเมืองไทยส่งเสริมกระบวนการนี้ด้วยการผลิตนวัตกรรมย่อยสลายเศษอาหารแบบเรียบง่าย ใช้ได้จริง และสะดวกสบาย เพื่อให้คุณได้ปุ๋ยหมักปราศจากเคมีสำหรับปลูกต้นไม้และพืชสวนครัว

 

ฝึกความเป็นนักสถิติกันดีกว่า

ในที่นี่เราหมายถึง การจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน ผ่านการตั้งคำถาม 5 ข้อเหล่านี้

  • วันนี้คุณซื้อของอะไรเข้าบ้าน?
  • วันนี้คุณทิ้งขยะอะไรบ้าง?
  • วันนี้คุณเก็บสิ่งของอะไรเข้าสารพัดตู้หรือลิ้นชักบ้าง?
  • วันนี้คุณแยกขยะรีไซเคิล หรือนำสิ่งของมารีไซเคิลแล้วหรือยัง?
  • อะไรที่ทำให้คุณลังเลหรืออยากซื้อ แล้วของชิ้นนั้นจำเป็นจริงหรือแค่คิดว่า “เดี๋ยวคงได้ใช้” ล่ะนะ?

การจดบันทึกข้อมูลง่าย ๆ เหล่านี้ลงในสมุดเล่มเล็กหรือแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน จะช่วยให้คุณสังเกตพฤติกรรมของตัวเองและนำไปสู่กระบวนการลด ละ เลิก การสร้างขยะได้ในระยะยาว

Photo by Essentialiving on Unsplash

ความสวยก็ช่วยโลกได้นะ!

รู้มั้ยว่า ผลิตภัณฑ์บนโต๊ะเครื่องแป้งหรือห้องน้ำก็สร้างขยะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย อาทิ สำลีเช็ดเครื่องสำอาง make up wipes (ทิชชู่เปียกเช็ดเครื่องสำอาง) ลองเลือกใช้ผ้าคอตตอนที่อ่อนโยนต่อผิวและผลิตขึ้นเพื่อเช็ดทำความสะอาดผิวหน้าโดยเฉพาะ เครื่องล้างหน้า หรือแปรงทำความสะอาดผิวหน้า ที่สามารถใช้ได้บ่อยครั้งและลดการสร้างขยะในแต่ละวันได้ด้วย

บอกลา ‘สครับ’ ที่มีไมโครบีดส์หรือพลาสติกอนุภาคขนาดจิ๋ว ที่นอกจากจะทำร้ายผิวหน้าเหมือนคุณเอาโฟมเล็ก ๆ ถูบนผิวหน้าจนเป็นริ้วรอยเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ทำให้ผิวบางลง แพ้ง่าย ไวต่อการระคายเคือง และมีริ้วรอย ทั้งยังลอดผ่านตัวกรองขยะจากบ้านเรือนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง จนถึงท้องทะเล กลายเป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ แล้วคนเราก็นำมารับประทานกลายเป็นพิษสะสมในร่างกายนั่นล่ะ

Cr. www.ftoxins.com/microbeads/

เปลี่ยนมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของธรรมชาติและออร์แกนิก ที่ไม่สร้างมลพิษตกค้างทางสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อร่างกายในระยะยาว เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารเคมีจะส่งผลให้ร่างกายสะสมสารเคมี โดยเฉพาะก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว เส้นผม ยาสีฟัน ผงซักฟอก ฯลฯ ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด หลีกเลี่ยงส่วนผสมของ พาราเบน (Paraben) พาทาเลต (Pthalate) SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ปิโตรเลียมเจลลี่ มิเนอรัล ออยล์ และสารเคมีอันตราย ที่รบกวนการทำงานของฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอีกด้วย

เคล็ดลับเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลดสร้างขยะในชีวิตประจำวัน ทั้งยังช่วยให้คุณมีความสุขและภูมิใจในตัวเองที่ได้ลุกขึ้นมาส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ตัวเองและชุมชนได้อีกด้วย เห็นมั้ยว่า การเปลี่ยนพฤกรรมเพียงเล็กน้อยก็ช่วยให้คุณสร้างสิ่งดี ๆ เล็ก ๆ ให้โลกนี้ได้แล้ว

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความตั้งใจและตัดใจจากสิ่งที่คุ้นเคย เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ ‘ตัวเรา’ เสมอ ปีใหม่นี้อย่าลืมบรรจุความเป็นชาว Zero Waste ลงไปด้วยนะ